18 พฤศจิกายน 2554

โมบายเว็บค่ายกูเกิ้ล ใช้ทำธุรกิจฟรี



ลองสังเกตดูนะครับ ว่าเดี๋ยวนี้เราติดตามข่าวสารจากแหล่งใดมากที่สุด โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ หรืออินเตอร์เน็ต จะพบว่าสื่ออินเตอร์เน็ตนับวันจะมีบทบาทมากขึ้นทุกที เพราะมีการรายงานข่าวสารที่ฉบับไว ทันท่วงที แถมยังมีความเห็นของผู้เข้าชมเพิ่มขึ้นมาอีกด้วย
            แล้วสังเกตดูครับว่าเดี๋ยวนี้ เราใช้เครื่องมือใดเข้าชมเว็บไซต์ต่างๆ ระหว่างคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โน้ตบุ๊ค แท็บเล็ต หรือว่าโทรศัพท์มือถือ พบว่ามีการใช้โทรศัพท์มือถือเข้าสู่เว็บไซต์ต่างๆมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะแทบทุกคนมีโทรศัพท์มือถือ และส่วนใหญ่ใช้ท่องเว็บได้
            เว็บที่เปิดด้วยโทรศัพท์มือถือหรือโมบายเว็บ ต่างจากเว็บที่เปิดด้วยคอมพิวเตอร์ทั่วไปตรงที่จะมีเนื้อหาย่นย่อกว่า ตามขนาดของหน้าจอที่เล็กกว่า องค์กรหลายแห่งนอกจากจะมีเว็บทั่วไปแล้วยังมีโมบายเว็บไว้อำนวยความสะดวกให้กับผู้เยี่ยมชมอีกด้วย ตัวอย่างเช่นเว็บมติชน www.matichon.co.th มีโมบายเว็บคือ http://m.matichon.co.th

สร้างโมบายเว็บธุรกิจ
            กูเกิ้ล ไซต์ ให้ท่านสามารถสร้างโมบายเว็บฟรีได้ที่ http://sites.google.com/mobilize  ที่นี่มีแม่แบบ(template)สำหรับการสร้างโมบายเว็บหลายแบบ เช่น ร้านอาหาร ธุรกิจท้องถิ่น อีคอมเมิรซ์ สังคม แต่ละอย่างก็มีรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่แตกต่างกันไป
            แม่แบบที่เป็นร้านอาหาร หน้าแรกจะมีส่วนที่ให้ใส่โลโก้ร้าน รูปอาหาร เบอร์โทรติดต่อ ที่ด้านล่างจะมีปุ่มเมนู คูปองโปรโมชั่น และแผนที่ แม่แบบที่เป็น Lead Generation จะมีช่องให้ลูกค้าสมัครสมาชิก กรอกข้อมูลของตัวเอง เช่น ชื่อ เบอร์โทร หรือ email เพื่อติดตามต่อไป แม่แบบอีคอมเมิร์ซจะมีปุ่มชำระเงินด้วย Google Checkout
โมบายเว็บสร้างเองได้ง่ายๆ โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องการเขียนโปรแกรม ถ้าท่านเล่น facebook เป็น ก็ทำได้ ตัวอย่างโมบายเว็บร้านขายหนังสือที่ผมสร้างขึ้นเชิญชมได้ที่ https://sites.google.com/site/ibookafe

ติดโฆษณาที่โมบายเว็บ
            นอกจากจะใช้โมบายเว็บแนะนำธุรกิจและขายสินค้าแล้ว ท่านยังสามารถมีรายได้จากค่าโฆษณาด้วยการนำโฆษณาของกูเกิ้ลมาติดได้อีก สมัครนำโฆษณาของกูเกิ้ลมาติดฟรีได้ที่ http://google.com/adsense
            ในส่วนเนื้อหาที่ท่านเขียนโมบายเว็บจะมีเมนูให้แทรกรูป ตรงนี้ท่านสามารถแทรกโฆษณาของกูเกิ้ลลงไปในจุดที่ท่านต้องการได้ เมื่อมีผู้เข้าเยี่ยมชมโมบายเว็บของท่านแล้วไปคลิกโฆษณาของกูเกิ้ลท่านก็จะได้รับส่วนแบ่งจากค่าโฆษณา
            โฆษณาที่กูเกิ้ลส่งมาลงในโมบายเว็บจะมีเนื้อหาสัมพันธ์กับเนื้อหาที่ท่านเขียน ท่านจะได้ส่วนแบ่งค่าโฆษณามากน้อยเท่าไหร่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าโมบายเว็บของท่านมีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร เป็นที่นิยมแค่ไหน มีจำนวนผู้เยี่ยมชมเท่าไหร่ เพราะยิ่งมีผู้เยี่ยมชมมากโอกาสที่คนจะคลิกโฆษณาก็มากขึ้นตามไปด้วย
           
เครื่องมือประชาสัมพันธ์เว็บ
            มีเว็บไซต์แล้วไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะเรียบร้อย สิ่งที่จะทำให้เว็บไซต์ประสบความสำเร็จ ขึ้นอยู่กับปริมาณคนที่เข้าชม เราจึงต้องประชาสัมพันธ์เว็บไซต์ เครื่องมือง่ายๆแต่ได้ผล และที่ใช้กันเป็นที่แพร่หลาย คือบอกเพื่อนๆในเฟสบุ๊ค และให้เพื่อนบอกต่อๆกันไป
หากท่านใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์อื่นเช่น Google Plus หรือ twitter ก็สามารถประชาสัมพันธ์โมบายเว็บของท่านผ่านเครื่องมือเหล่านั้นได้ นอกจากนี้ยังมีคลาสสิฟายด์ที่ต่างๆที่มักให้ใช้บริการฟรี มีให้ใช้ทั้งบนอินเตอร์เน็ตและสื่อสิ่งพิมพ์
หากท่านมีงบประชาสัมพันธ์ ก็ลงโฆษณากับ Facebook หรือ Google หรือที่อื่นๆ ก็ย่อมได้ แต่วิธีการที่ผมว่าดีและน่าจะได้ผลมากๆคือ การส่งเป็นข้อความแนะนำเว็บของท่านเข้าสู่โทรศัพท์มือถือของลูกค้าเป้าหมาย ถ้าเขาสนใจก็เปิดจากโทรศัพท์มือของของเขาได้ทันที

สร้างโมบายเว็บจากโทรศัพท์มือถือ
หลังจากที่ทดลองใช้งานเครื่องมือสร้างโมบายเว็บของกูเกิ้ล ไซต์ พบว่าประสิทธิภาพยอดเยี่ยม เสียอย่างเดียวคือไม่สามารถทำงานได้จากโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต เช่น Sumsung Galaxi Tab (ลองค้น App ของแอนดรอยด์แล้วไม่มี) ทำให้การสร้างโมบายเว็บด้วยวิธีนี้ต้องเปิดจอคอมพิวเตอร์ขึ้นมาทำเท่านั้น
แต่ผมค้นพบว่า Blogger.com สามารถสร้างโมบายเว็บได้เช่นกัน เพราะมีโปรแกรมชื่อ blogger droid ไว้เขียนบล็อกจากโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตได้อีกด้วย ลองดาวน์โหลดมาใช้งานดูครับ ทำสิ่งต่างๆข้างต้นได้เหมือนใน Google Site ทุกประการ
            รู้สึกเหมือนผมไหมครับว่า เทคโนโลยีสมัยนี้ก้าวหน้าพัฒนาเร็วเหลือเกิน คนอย่างเราๆไม่ต้องพูดถึงเรื่องการคิดค้นเรื่องใหม่ๆเอาแค่ติดตามใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านั้นก็ตามไม่ค่อยจะทันแล้ว
            แต่ลำพังเพียงรู้จักใช้งานเครื่องมือต่างๆที่มีอยู่อย่างเต็มที่ ผมว่าเราก็จะได้ประโยชน์จากมันมหาศาล.

17 ตุลาคม 2554

เว็บเฉพาะกิจ


ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาข่าวน้ำท่วมยึดครองพื้นที่ของสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออื่นๆ จนถึงขณะนี้ความเดือดร้อนก็คงยังไม่หมดสิ้นไป หลายชีวิตยังต้องการการเยียวยาช่วยเหลือ  ใครพอมีกำลังก็บริจาคทรัพย์สิน สิ่งของ บ้างก็ช่วยบริจาคแรงงาน คนละไม้คนละมือ คนเราจะเห็นใจกันก็ยามยากนี่แหละ
สิ่งที่มาพร้อมๆกับภัยธรรมชาติครั้งนี้คือน้ำใจของคนไทยที่แสดงออกมาให้เห็นอย่างท่วมท้น ในโลกออนไลน์มีการทวีตเตอร์รายงานน้ำท่วมและแจ้งข่าวการให้ความช่วยเหลืออย่างคึกคัก เช่น สถานีข่าวระวังภัย @Rawangpai , ศูนย์ข้อมูลช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม@thaiflood ,กรมชลประทาน @PR_RID เป็นต้น
บนเฟสบุ๊คเกิดเพจรายงานสถานการณ์น้ำท่วมมากมาย ทั้งระดับประเทศ และระดับจังหวัด เช่น www.facebook.com/flood54 น้ำท่วม 54 เกาะติดสถานการณ์และการบริจาค , www.facebook.com/room2680 น้ำท่วมให้รีบบอก , www.facebook.com/k.sharing พระจอมเกล้าลาดกระบัง ปันน้ำใจช่วยภัยน้ำท่วม
            เว็บไซต์เฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นมาเพื่อการนี้ก็ทำหน้าที่ได้อย่างแข็งขัน เช่น www.truelife.com/helptogether/flood ของค่ายทรู มีรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในแง่มุมต่างๆอย่างใกล้ชิด เชื่อมต่อไปยังเว็บช่วยเหลือน้ำท่วมที่เกี่ยวข้อง สามารถรายงานข่าวน้ำท่วมด้วย MMS และ SMS สำหรับเบอร์โทรศัพท์มือถือค่ายทรู ไม่เสียค่าใช้จ่าย
            สำนักการระบายน้ำ http://dds.bangkok.go.th/Floodmon มีระบบตรวจวัดน้ำท่วมบนถนนสายต่างๆในกรุงเทพ ทั้งแผนที่ รูปถ่าย และกราฟ นับว่าทันสมัย ละเอียดลออดีทีเดียว คงจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่อยู่ในกรุงเทพเป็นอย่างยิ่ง
            ชีวิตไม่สิ้นก็ต้องดิ้นกันไป น้ำท่วมครั้งนี้ทำให้แหล่งทำมาหากินของหลายๆท่านได้รับความเสียหาย บ้างก็ขาดทุนจนหมดเนื้อหมดตัว จะอย่างไรก็ตามขอให้ท่านอย่าหมดกำลังใจในการสู้ชีวิต จงเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส โอกาสในการเริ่มต้นทำในสิ่งใหม่ๆ ใครจะไปรู้ว่านี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่ของท่านก็ได้
เดือนตุลาคมปี 2554 นอกจากจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ในไทยแล้ว ยังเป็นเดือนที่สตีฟ จ็อบส์เจ้าของแอปเปิลคอมพิวเตอร์เสียชีวิตด้วย ผลงาน iPhone ,iPad ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างท่วมท้นในขณะนี้ฝีมือเขาล่ะ ตอนที่ iPad ออกมาใหม่ๆ ผมยังคิดว่าใครจะไปซื้อ คอมพิวเตอร์อะไร คีย์บอร์ดก็ไม่มี เมาส์ก็ไม่มี เอาเงินเท่าๆกันนี้ไปซื้อโน้ตบุ๊คดีกว่า
กลายเป็นว่า iPad จุดกระแสความนิยมเรื่องแทปเล็ตให้ใช้กันอย่างแพร่หลาย จนกระทั่งบริษัทคอมพิวเตอร์อีกหลายแห่งแห่ผลิตแทปเล็ตตามกันเป็นแถว สตีฟ จ็อบส์เคยกล่าวทำนองว่าเขาไม่ใช่ผู้ผลิตสินค้าสนองความต้องการของตลาด แต่เป็นผู้สร้างความต้องการนั้นขึ้นมาเอง ฉะนั้นไม่น่าแปลกใจเลยในความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของเขา
สตีฟ จ็อบส์มีวิกฤติใหญ่ๆในชีวิต 3 ครั้ง ครั้งแรกคือเรื่องต้องออกจากมหาวิทยาลัย เพราะมีปัญหาเรื่องค่าเล่าเรียน เรื่องนี้ทำให้เขาได้เลือกเรียนวิชาที่เขาสนใจจริงๆ(แบบไม่เสียเงิน) เช่นการประดิษฐ์ตัวอักษร ต่อมามันเป็นความรู้สำคัญที่ใส่ลงไปในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เขาผลิตขึ้น
วิกฤติครั้งที่สองคือเขาถูกออกจากบริษัทที่เขาก่อตั้งขึ้นมาเอง ตอนนั้นเขารู้สึกแย่มาก แต่ต่อมาเขาก็ไปตั้งบริษัทพิกซาร์ ผู้สร้างการ์ตูนแอนนิเมชั่น ทอย สตอรี่ ก่อนที่บริษัทวอลต์ดิสนี่ย์จะซื้อกิจการไป ช่วงเวลานี้เองที่เขาได้พบรักและแต่งงานกับภรรยาของเขา
วิกฤติครั้งสุดท้ายคือเขาเป็นมะเร็งตับอ่อน ทำให้เขาใช้ชีวิตทุกวันอย่างคุ้มค่าเหมือนว่าเป็นวันสุดท้ายของชีวิต แม้จะรักษาหายมาแล้วครั้งหนึ่งแต่ก็กลับไปเป็นซ้ำอีกครั้ง จนกระทั่งเสียชีวิตไปในที่สุด
น้ำท่วมครั้งนี้หลายโรงงานจมน้ำเสียหาย หนึ่งในนั้นคือโรงงานมูลค่า 3,000 ล้านของคุณตัน ภาสกรนที เขาถึงกับร่ำไห้ต่อสาธารณะ เป็นความเสียหายที่หนักหนาสาหัส แต่ผมเชื่อว่าคุณตันจะฟื้นตัวกลับมาได้ใหม่ในไม่ช้า
ทุกสิ่งคือมายา โลกนี้คือละคร ชีวิตคนบางครั้งเหมือนนิยาย ก่อนจบคอลัมน์นี้ของเล่าชีวิตของคนๆหนึ่งที่เริ่มต้นจากศูนย์ เพื่อเป็นกำลังใจให้กับทุกท่าน ชายคนนี้เรียนจบเพียง ป.4 เกิดในครอบครัวชาวนาที่จังหวัดร้อยเอ็ด เข้ากรุงเทพมาทำงานโรงงานตั้งแต่อายุ 12 หลังเกณฑ์ทหาร แต่งงานมีครอบครัว ยึดอาชีพทำนา ก่อนจะย้ายเข้ากรุงเทพอีกครั้งเพื่อรับจ้างขายไอศกรีม
ต่อมาน้องชายที่ส่งลูกชิ้นให้ร้านอาหารแนะนำให้ขายก๋วยเตี๋ยว จึงลองทำดู ขายได้สักพักพบว่าเส้นบะหมี่ไม่มีคุณภาพ จึงคิดอยากผลิตเอง จึงศึกษาแล้วลองทำจนถูกใจ เริ่มจากทำขายเองในร้านเพื่อลดต้นทุน ประสบความสำเร็จ จนเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นอยากขายบะหมี่บ้างจึงแตกสาขาออกไปเรื่อยๆ ปัจจุบันมี 2,000 กว่าสาขา
นั่นคือเรื่องราวของ พันธ์รบ กำลาเจ้าตำรับ "ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว" เถ้าแก่ร้อยร้าน ผู้ที่ความคิดไม่เคยหยุดนิ่ง นอกจากทำแฟรนไชส์บะหมี่แล้วยังแตกไลน์เป็น หญิงห้าข้าวหน้าเป็ด และกำลังทำ ร้านอาหารทันสมัยชื่อ พ่อชายสี่ หมี่&สเต็ก แถวปทุมธานี ลองเข้าไปอ่านเรื่องราวของเขาได้ที่ www.chay4.co.th
จากเรื่องน้ำท่วมไปถึงเจ้าพ่อไอที จบลงที่แฟรนไชส์บะหมี่ข้างถนน ทั้งหมดนี้เพื่อจะบอกกับคุณว่า คนที่ประสบความสำเร็จไม่ใช่ว่าจะล้มไม่เป็น แต่ทุกครั้งที่ล้มเขาลุกขึ้นมาได้ใหม่เสมอ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปได้ครับ.


6 ตุลาคม 2554

ธุรกิจในช่วงวิกฤติ



ดูข่าวสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่แล้วน่าเห็นใจผู้ประสบภัยเป็นอย่างยิ่ง ข้าวของเสียหาย ธุรกิจย่อยยับ หลายท่านต้องสูญเสียเพื่อนฝูงญาติพี่น้องไปกับอุทกภัยในครั้งนี้ แต่คนไทยไม่ทิ้งกับอยู่แล้ว ใครช่วยเหลือสิ่งใดได้ก็ช่วยกันหน่อยนะครับ ข้าวของเงินทองบริจาคช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน คนเราจะเห็นใจกันก็ยามยากนี่แหละ
            สำหรับบ้านใครที่ยังไม่อยู่ในเขตภัยพิบัติในครั้งนี้ก็อย่านิ่งนอนใจ ติดตามข่าวสารตามสื่อต่างๆเพื่อคอยระวังและรับมือให้ดี พื้นที่ที่ไม่เคยท่วมก็ท่วมมาให้เห็นแล้ว ประมาทไม่ได้ป้องกันไว้ดีกว่าแก้ไข ท่านสามารถติดตามข่าวสารทางอินเตอร์เน็ตได้ที่ www.thaiflood.com ดูแล้วน่าตกใจ เพราะถึงวันนี้(5 ต.ค.54) มีผู้เสียชีวิต 237 ราย สูญหาย 3 ราย เดือดร้อน 8 ล้านคนแล้ว
            เว็บข่าวของทางโทรทัศน์ช่องต่างๆ ก็มีรายงานเรื่องน้ำท่วมอย่างคึกคัก เช่นช่อง 9 www.mcot.net หรือ ช่อง 7 ที่ www.ch7.com หากต้องการทราบข้อมูลอย่างใกล้ชิดในพื้นที่ของท่าน อาจติดตามได้จากเว็บรายการโทรทัศน์ในท้องถิ่น เช่นที่นครราชสีมามีเคเบิ้ลทีวียอดนิยมชื่อ KcTV เว็บของช่องนี้คือ www.kctv.co.th
            หากท่านไม่รู้ว่าจะรับมือกับน้ำท่วมอย่างไร สามารถดาวน์โหลดคู่มือน้ำท่วม ได้ที่www.softbizplus.com/general/533-floods-handbook มีทั้งการเตรียมตัวก่อนน้ำท่วม ระหว่างน้ำท่วม และหลังน้ำท่วม ขณะนี้ทางราชการมีเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยครัวเรือนละ 5,000 บาทด้วย อ่านเงื่อนไขได้ที่เว็บกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย www.disaster.go.th
            น้ำท่วมครั้งนี้หลายพื้นที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน หลายคนรับมือไม่ทัน ทำให้คิดว่าหากมีการรายงานสถานการณ์น้ำท่วมสดๆแบบรายงานสถานการณ์จราจรก็คงจะดีไม่น้อย เมื่อเร็วๆนี้ผมอ่านข่าวพบว่าแอพลิเคชั่นที่มีการดาว์นโหลดใช้งานมากที่สุดสำหรับสมาร์ทโฟนและแท็ปเล็ตได้แก่ กูเกิ้ลแผนที่ http://maps.google.co.th เพราะใช้ดูสภาพการจราจรแบบเรียลไทม์ได้
            มันเป็นความสามารถที่ยอดเยี่ยมมาก ผู้ที่ใช้รถสามารถตรวจดูเส้นทางต่างๆด้วยตัวเองทันที ไม่ต้องรอรายงานจากทางวิทยุหรือโทรทัศน์ ซึ่งไม่รู้ว่าผู้สื่อข่าวจะรายงานเส้นทางที่เราสัญจรเมื่อไหร่ หากเส้นทางไหนสีแดงก็ให้หลีกเลี่ยง ไปในเส้นทางที่ขึ้นสีเขียว ขณะนี้รายงานได้เพียงเส้นทางหลักๆ ตามตรอกซอกซอยในกรุงเทพยังไม่แสดงผล
            สำหรับเรื่องสภาพอากาศกูเกิ้ลแผนที่สามารถแสดงผลอย่างคร่าวๆ เพียงว่าอุณหภูมิกี่องศา มีฝนตก แดดออกหรือไม่ หากมันสามารถแสดงผลได้ว่าพื้นที่ไหนน้ำท่วมระดับไหนแล้ว ก็จะดีไม่น้อย พื้นที่ใกล้เคียงหรือผู้ที่ต้องสัญจรไปละแวกนั้นจะได้เตรียมรับมือได้ ฝากเรื่องนี้ถึงกูเกิ้ลประเทศไทยด้วยนะครับ
            น้ำท่วมอาจทำให้หลายธุรกิจย่อยยับ แต่ก็ทำให้หลายธุรกิจรุ่งเรืองขึ้นมา เช่น ธุรกิจขายกระสอบทรายกั้นน้ำ และเรือพลาสติก ลองดูคลิปข่าวนี้ http://tinyurl.com/3b5kx6a ปีที่แล้วน้ำท่วมโคราชเรือพลาสติก 50 ลำที่ร้านของเขาขายหมดในครึ่งชั่วโมง รวมทั้งพลาสติกที่ใส่ของหนีน้ำก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
            ในวิกฤติมีโอกาสเสมอขึ้นอยู่กับมุมมอง นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมักเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ยาวไกล มองเห็น(โอกาส)ในสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น สินค้าและบริการของเขาผลิตขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการและช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้คนได้ในอนาคต คนเหล่านี้มักคิดไปไกลกว่าคนทั่วไปหลายขั้น
            ช่วงนี้ที่เฟสบุ๊คของคุณตัน ภาสกรนที www.facebook.com/tanmaitan มีการสอนวิธีทำเสื้อชูชีพลอยน้ำได้ จากวัสดุเหลือใช้จำพวกขวดพลาสติกน้ำดื่ม ใช้งานได้จริง ทำได้ทันที เข้าท่าดีทีเดียว ลองเข้าไปดูทางยูทูปได้ที่ http://youtu.be/SzPhq7I_tFk นอกจากนี้คุณตันยังเป็นผู้บริจาคช่วยเหลือน้ำท่วมรายใหญ่
            คุณตัน เป็นนักธุรกิจที่มักปรากฏตัวเป็นข่าวอยู่เสมอ เช่น การทอล์คโชว์ร่วมกับอุดม แต้พานิช หรือการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองที่กรุงเทพ แง่หนึ่งคุณตันได้ประชาสัมพันธ์ตนเองโดยอาจจะใช้เงินน้อยกว่าลงโฆษณาในสื่อบางแห่งด้วยซ้ำ และได้ภาพพจน์ที่ดีกว่าด้วย
            หลายคนอาจจะตำหนิคุณตันที่ขายกิจการโออิชิ แล้วยังมาทำชาเขียวบรรจุขวดอิชิตันแข่งกับยี่ห้อเดิมของตนเองอีก แต่เมื่อมองลึกลงไปพบว่าคนที่มาซื้อกิจการโออิชิ คือ เสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของเบียร์ช้าง มหาเศรษฐีติดอันดับโลก คุณเจริญเคยบอกว่าหลังซื้อกิจการของคุณตัน หุ้นของโออิชิที่เพิ่มขึ้นมา มูลค่าของมันเหมือนกับว่าเขาได้โออิชิมาฟรีๆ
            เป็นไงล่ะ บอกแล้วว่าเศรษฐีเขาคิดไม่เหมือนคนธรรมดา คอลัมน์ของผมในวันนี้อาจจะไม่ค่อยได้เกี่ยวข้องกับเรื่องออนไลน์เท่าไหร่ แต่มาชวนคุณคิดต่างและคิดบวกในช่วงสถานการณ์วิกฤติ หุ้นตก น้ำท่วม เศรษฐกิจทั่วโลกย่ำแย่ เราจะทำอะไรได้บ้าง (ไม่อยากบอกเลยว่าช่วงนี้ผมก็ได้กำไรจากการซื้อขาย Single Stock Futures)
             คนที่มองในแง่ลบอาจจะบอกว่า หากิน กับ ความเดือด ร้อนของคนอื่นละสิ ก็ว่ากันไป ถ้าจะมองให้เป็นลบมันก็ทำได้ทั้งนั้น เช่น คุณครูก็หากินกับ ความไม่รู้ ของนักเรียน หมอก็หากินกับความเจ็บป่วยของคนไข้ ร้านมินิมาร์ทอย่างเซเว่น อีเลฟเว่นเป็นพ่อค้าคนกลางที่กินหัวคิวจากผู้ผลิตสินค้ารายต่างๆ มองอย่างนี้ถึงไม่ผิดแต่มันทำให้สิ่งต่างๆดีขึ้นไหม
            ถ้าสินค้าหรือบริการของเราตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ช่วยแก้ปัญหาให้เขาได้ ราคาสมเหตุสมผล ไม่เอาเปรียบใคร ไม่มีใครตำหนิเราได้หรอกครับ ตรงกันข้ามเขาจะนิยมชมชื่นเราด้วยซ้ำ ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมทุกคน ให้ผ่านพ้นช่วงเวลาเลวร้ายนี้ไปได้ คิดเสียว่าตอนเกิดมาเราก็ตัวเปล่า ใช้ชีวิตมาถึงตอนนี้ได้ก็นับว่ากำไรกว่าใครหลายคนแล้ว

25 สิงหาคม 2554

ทำเว็บธุรกิจให้เป็นเว็บ 2.0

สารานุกรมเสรี วิกิพีเดีย อธิบายว่า เว็บไซต์ที่ออกแบบโดยใช้หลักการของเว็บ 2.0 ทำให้กลุ่มผู้ใช้งานสามารถปฏิสัมพันธ์และร่วมมือกันในลักษณะของสื่อสังคมออนไลน์ โดยกลุ่มผู้ใช้งานเป็นผู้สร้างเนื้อหาขึ้นเอง ต่างจาก เว็บ 1.0 ที่กลุ่มผู้ใช้ถูกจำกัดบทบาทโดยทำได้แค่เพียงการเยี่ยมชม หรือดูเนื้อหาที่ผู้ใช้สนใจ...

ตัวอย่างเว็บที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งหลายล้วนดำเนินการตามแนวทางนี้ เช่น เว็บวิกิพีเดีย www.wikipedia.org ที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปช่วยกันเขียนสารานุกรมออนไลน์ขึ้นมา บล็อกต่างๆที่ให้ผู้เข้าชมแสดงความเห็นกับเนื้อหาของบล็อกได้ หรือเฟสบุ๊คที่เปิดโอกาสให้ทุกคนแบ่งปันเรื่องราว รูปถ่ายและคลิปวีดีโอ ให้แก่กันและกัน เป็นต้น

เมื่อเร็วๆนี้มีรายงานว่าผู้ใช้เฟสบุ๊คประเทศไทยขยับขึ้นไปอยู่ที่ 10 ล้านคนแล้ว เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ 2-3 เดือนมานี้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละเกือบแสนคน แสดงให้เห็นว่า เฟสบุ๊คเริ่มมีอิทธิพลกับชีวิตคนไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้วัยรุ่นและวัยทำงาน อาจจะคุยกันผ่านช่องทางนี้มากกว่าคุยกันจริงๆเสียอีก

สำหรับผม เพื่อนสมัยประถม มัธยม ที่จากกันไป ไม่ได้เจอกันนาน ถูกเฟสบุ๊คขุดค้นมาให้เจอ เกือบจะหมดแล้ว มันเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นดีอยู่เหมือนกันที่ได้รับรู้ข่าวคราวของเพื่อนเก่า ว่าใครทำอะไร เป็นอย่างไร อยู่ที่ไหน บ้างก็อยู่ต่างจังหวัด บ้างก็อยู่ต่างประเทศ ปะเหมาะเจอกันจังๆที่เฟสบุ๊คก็แชตกันสดๆเป็นชั่วโมงให้หายคิดถึง

ปัจจัยที่ทำให้เครือข่ายสังคมออนไลน์แห่งนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นผลมาจากช่องทางการเข้าสู่อินเตอร์เน็ตมีเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตยี่ห้อต่างๆ ขนาดจอดรถติดไฟแดงยังคุยกันผ่านทวิตเตอร์และเฟสบุ๊คได้ อะไรจะขนาดนั้น ไปไหนมาไหนเห็นเด็กวัยรุ่นจ้องโทรศัพท์มือถือจิ้มนิ้วกันวุ่นวาย

จากผลการวิจัยพบว่าเรื่องต่างๆที่เพื่อนแนะนำให้เพื่อน มีโอกาสสูงที่จะได้รับการตอบรับมากกว่าปฏิเสธ จึงไม่น่าแปลกใจที่เว็บทั้งหลายต่างก็เพิ่มปุ่ม แบ่งปัน ให้เพื่อนทั้งบนเฟสบุ๊คและทวิตเตอร์ สินค้าและบริการต่างๆเริ่มตบเท้าเข้ามาใช้บริการโฆษณาบนเฟสบุ๊ค จนค่าโฆษณาที่เว็บแห่งนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ลองมาดูตัวอย่างของเว็บชั้นนำในประเทศไทยที่ใช้ประโยชน์ของเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างทวิตเตอร์และเฟสบุ๊ค เว็บหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ www.bangkokbiznews.com สื่อแห่งนี้ส่งเสริมให้นักข่าวใช้ทวิตเตอร์รายงานข่าว จากนั้นก็นำมารีทวิตบนหน้าเว็บให้คนทั่วไปอ่าน นับว่าเป็นการรายงานข่าวอย่างฉับไวทันใจยิ่ง

เว็บหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ www.posttoday.com มีส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการรายงานสภาพการจราจรในกรุงเทพ ให้คนทั่วไปแชร์ต่อทางเฟสบุ๊คหรือทวิตเตอร์ได้ เว็บทั้งสองแห่งข้างต้นยังมีการทำแบบสอบถามหรือโพลล์ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ แล้วคลิกดูผลโพลล์ได้ทันที

สำหรับเว็บมติชน www.matichon.co.th มีการนำเวทีแสดงความคิดเห็นหัวข้อต่างๆ มาไว้ที่หน้าแรก หลายความคิดเห็นสร้างสรรค์ น่าสนใจมากทีเดียว ผู้อ่านมีส่วนร่วม และเนื้อหาเว็บก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เป็นวิธีการเดียวกับเว็บที่มีผู้เข้าชมเป็นหลักแสนอย่าง www.sanook.com และ www.mthai.com ทำงานอยู่

ลองเข้ามาดูเว็บที่ต้องอัพเดทข้อมูลข่าวสารแบบชั่วโมงต่อชั่วโมงอย่างเว็บราคายาง http://rakayang.net นอกจากเจ้าของเว็บจะนำข่าวสารต่างๆที่เกี่ยวข้องกับยางพาราขึ้นที่หน้าแรกแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมเว็บแชตกันสดๆ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร คนที่ไม่เกี่ยวข้อง แต่สนใจเรื่องดังกล่าวก็ได้อ่านกันเพลินๆ

วิธีการเชตกันสดๆมีหลายธุรกิจ เช่น อีเบย์และทรูนำไปใช้ในลักษณะคล้ายๆ Call Center ไว้คอยตอบคำถามและข้อสงสัยให้แก่ผู้ใช้บริการอีกด้วย หากท่านต้องการเครื่องมือนี้ไปติดที่เว็บของท่าน yahoo จะมีชื่อเรียกว่า Pingbox นำไปใช้ได้ฟรี ที่ http://messenger.yahoo.com/pingbox/studio

ถ้าต้องการให้ดูเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้นอาจใช้บริการที่ www.thailivechat.com มีทั้งแบบให้ใช้บริการฟรี และเสียเงินเดือนละ 400 บาท แน่นอนว่าอย่างหลังก็จะทำงานได้มากกว่า โปรแกรมนี้เป็นเจ้าของเดียวกับสถาบัน Netdesign

ปกติองค์กร บริษัท ห้างร้าน นอกจากจะมีเว็บของตนเองแล้วยังมีเฟสบุ๊คเพื่อสื่อสารอย่าง
ฉับไว และไม่เป็นทางการอีกด้วย ท่านสามารถเชื่อมเว็บองค์กรและเฟสบุ๊คเข้าด้วยกัน โดยเข้าไปที่
http://th-th.facebook.com/badges ลงทะเบียนเฟสบุ๊คแล้วนำ แล้วเลือกโค้ตจากที่นี่ไปติดที่เว็บหรือบล็อกของตนเอง

เมื่อท่านเขียนสิ่งต่างๆบนเฟสบุ๊ค สิ่งเหล่านั้นมันก็จะไปโชว์ที่เว็บของท่านด้วย ทำให้เว็บของท่านมีความเคลื่อนไหว ไม่น่าเบื่อและเป็นช่องทางให้ลูกค้าของท่านติดต่อท่านได้อีกทางหนึ่ง มีคำถาม ข้อสงสัย หรือสนใจเรื่องใดก็โพสต์ไว้ที่เฟสบุ๊คของท่านได้เลย

การทำให้เว็บไซต์ขององค์กรบริษัทของท่านปรับเปลี่ยนเป็นเว็บ 2.0 ด้วยการเพิ่มส่วนต่างๆให้ผู้เข้าชมเว็บได้มีส่วนร่วม อาทิ แชตคุยกันได้ หรือแสดงความเห็นบนเนื้อหา หรือกด Like ผ่านเฟสบุ๊คได้ ทำให้เว็บไม่จืดชืด ตื่นตาตื่นใจ และผู้เข้าชมเว็บรู้สึกผูกพัน อยากเข้ามาเชี่ยมชมเว็บในครั้งต่อไปอีกเรื่อยๆ

แล้ว(คง)ไม่นานผู้เข้าชมเว็บเหล่านี้ ก็จะกลายเป็นลูกค้าที่จงรักภักดีต่อท่านในท้ายที่สุด.

5 เว็บไซต์เพื่อการศึกษา และมหาวิทยาลัยออนไลน์

นโยบายที่พรรคเพื่อไทยใช้หาเสียงเรื่องแจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียนทั่วประเทศ ก่อนที่จะปรับมาแจกให้เฉพาะชั้น ป.1 ก็กำลังจะเป็นเหมือนหลายๆนโยบายของพรรคนี้ที่ดูสวยหรู แต่ทำไม่ได้จริง เหตุที่ต้องการแจกแท็บเล็ตเขากล่าวว่าไม่ต้องการให้นักเรียนต้องหิ้วหนังสือไปโรงเรียนหนักเกินไป ดาวน์โหลดอีบุ๊คใส่แท็บเล็ตไปเรียนหนังสือสะดวกกว่า

ความจริงเด็กๆในชนบทซึ่งเป็นเด็กส่วนใหญ่ของประเทศ พวกเขาขาดแคลนเรื่องอื่นที่จำเป็นกว่านั้น ตัวอย่างเช่น โรงเรียนโคกหน้ากลอง แถวๆบ้านผม คุณครูมีจำนวนจำกัด ครูคนหนี่งต้องสอนหลายวิชา ดูแลหลายชั้นเรียน ตอนกลางวันยังต้องลงรับหน้าที่เป็นแม่ครัวทำกับข้าวให้เด็กๆกินอีก เด็กบางคนเสื้อผ้าใส่มาโรงเรียนยังมีไม่พอด้วยซ้ำ

ผมว่าก่อนที่จะไปแจกเครื่องมือที่ใช้งานอย่างฉาบฉวยอย่างแท็บเล็ต เอาเรื่องคอมพิวเตอร์ให้เด็กๆมีใช้อย่างทั่วถึงกันก่อนดีกว่าไหม เงินจำนวนเท่าๆกัน เช่น 5,000 บาท อาจซื้อแท็บเล็ตที่ใช้งานได้ไม่กี่อย่าง แต่สามารถซื้อคอมพิวเตอร์ที่ทำงานได้สารพัดอย่าง ถ้านักเรียนมีคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตใช้ครบทุกคน การศึกษาไทยก็จะก้าวไกลไปอีกเยอะ

ก่อนหน้านี้เคยมีโครงการอินเตอร์เน็ตตำบลหรืออินเตอร์เน็ตชุมชน เอาเครื่องคอมพิวเตอร์ไปตั้งไว้แล้วก็ใช้กันไม่เป็น ไม่นานก็กลายเป็นวัตถุโบราณที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ เสียงบประมาณเปล่า สิ่งเหล่านี้ทำเพียงเพื่อสนองนโยบาย โดยไม่ได้เตรียมความพร้อมเรื่องอื่น เช่น การฝึกอบรมการใช้งานอินเตอร์เน็ตเป็นต้น

ปัจจุบันมีเว็บดีๆเพื่อการศึกษาจำนวนมาก หากนักเรียนสามารถเรียนออนไลน์ได้ จะช่วยแบ่งเบาภาระครู และพอจะแก้ปัญหาครูขาดแคลนได้ระดับหนึ่ง การเรียนรู้ผ่านทางอินเตอร์เน็ตดีกว่าโทรทัศน์ตรงที่มันเป็นการสื่อสาร 2 ทาง นักเรียนสามารถฝากคำถามเอาไว้ แล้วให้ครูมาตอบ หรือคุยโต้ตอบกันสดๆทาง msn , Facebook หรือโปรแกรมอื่นๆก็ได้

ต่อไปนี้คือ 5 เว็บไซต์เพื่อการศึกษาที่ผมว่าน่าสนใจสำหรับศึกษาเรื่องต่างๆด้วยตนเอง

1. เว็บของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม www.dlf.ac.th ซึ่งมีรายการทีวีทางอินเตอร์เน็ตให้เลือกชมแยกเป็นชั้นเรียนทั้งประถมและมัธยม ตั้งแต่ ป.1-ม.6 ท่านสามารถเลือกชมรายการสดหรือรายการย้อนหลังก็ได้

2. เว็บวิชาคณิตศาสตร์ www.kanid.com ครบเครื่องเรื่องคณิต ทั้งสมการ อสมการ เวกเตอร์ แคลคูลัส ตรีโกณมิติ ฯลฯ มีทั้งเกม แบบทดสอบ คลังโจทย์ข้อสอบ เทคนิคการเรียน เว็บบอร์ดพูดคุย เกร็ดความรู้ ห้องเรียนออนไลน์

3. เว็บเรียนภาษาอังกฤษฟรีออนไลน์ www.e4thai.com ท่านจะได้รับคำแนะนำเรื่องการเรียนภาษาอังกฤษด้วยตนเอง ฝึกทักษะภาษาอังกฤษด้านต่างๆทั้งพูด อ่าน เขียน มีแบบฝึกหัดให้ลองทำ และดาวน์โหลด e-book ภาษาอังกฤษมาอ่านฟรี

4. เรียนฟรีเรื่องคอมพิวเตอร์และไอที 11 หลักสูตร กับกระทรวง ICT ที่ www.mict4u.net เนื้อหาวิชาได้แก่ การใช้และการดูแลคอมพิวเตอร์ การสร้างเว็บไซต์ การสร้างสื่อการเรียนรู้ e-book และ e-learning รวมถึงการทำธุรกิจออนไลน์ มีการฝึกอบรมทั้งปี กระจายไปตามจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ ลองเข้าไปดูครับ

5. http://tv.truelife.com ท่านสามารถชมทีวีออนไลน์สดๆ หลายๆช่องได้ที่นี่ ทั้ง ช่อง 9 ช่อง 5 เนชั่น แชแนล สถานีข่าว 24 ชั่วโมง รายการเกี่ยวกับเศรษฐกิจการเงินที่มันนี่ แชแนล มีรายการกีฬา เพลง เกมโชว์ ละคร เพื่อความบันเทิงด้วย

เว็บการศึกษาข้างต้นเปิดให้ใช้บริการฟรี แต่เรื่องการศึกษาสามารถทำเป็นธุรกิจได้ ตัวอย่างเช่นเว็บสอนภาษา www.elearningseeker.com สอนวิชาภาษาอังกฤษ เกาหลี จีน ญี่ปุ่น และโปรแกรมกราฟฟิคคอมพิวเตอร์ ค่าเรียนเริ่มต้นที่ 599 บาทต่อเดือน ทบทวนได้ 24 ชั่วโมง เรียน 30 วันไม่จำกัดชั่วโมงกับเจ้าของภาษา

การเรียนผ่านอินเตอร์เน็ตกำลังพัฒนาไกลไปจนถึงขั้นปริญญาตรีและโท ที่ มหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย www.thaicyberu.go.th เป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งเช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.เกษตรศาสตร์ ม.มหิดล ม.ขอนแก่น ม.เชียงใหม่ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทำการเรียนการสอนระบบ e-learning ผ่านอินเตอร์เน็ต

หลักสูตรปริญญาตรีที่อยู่ในระหว่างพัฒนาหลักสูตรได้แก่ วิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาการพัฒนาซอฟท์แวร์ และ อุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยียานยนต์ หลักสูตรปริญญาโทได้แก่ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชศาสตร์สังคมและบริหาร (นานาชาติ) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภาคเอกชนเช่น มหาวิทยาลัยรังสิต www.rsu-cyberu.com เปิดปริญญาตรีและโทออนไลน์ 3 สาขาคือ หลักสูตรนิติศาสตร์, หลักสูตรผู้นำสังคม ธุรกิจและการเมือง และหลักสูตรการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ

การเรียนออนไลน์ เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา เพียงมีคอมพิวเตอร์ที่ต่ออินเตอร์เน็ตก็สามารถเข้าถึงขุมความรู้เหล่านี้ได้ ผมว่านี่คือสิ่งที่รัฐบาลใหม่น่าจะให้การสนับสนุนมากกว่า แต่ก็อย่างว่าการทำเรื่องดังกล่าวอาจจะต้องใช้เวลานาน และไม่ใช่เรื่องหวือหวา สามารถนำไปใช้หาเสียงได้เหมือนกับการแจกแท็บเล็ตให้เด็กนักเรียน

ซึ่งสุดท้ายผมว่าเด็กๆก็จะนำไปใช้เล่มเกมมากกว่าทำอย่างอื่น.

8 กรกฎาคม 2554

โพลล์ออนไลน์ และเว็บฟรีค่ายกูเกิ้ล

การเลือกตั้งที่ผ่านมาสิ่งหนึ่งที่ดำเนินการควบคู่กับการหาเสียงของพรรคการเมืองคือ ผลการสำรวจความคิดเห็นของสำนักต่างๆ ทั้ง เอแบคโพลล์ สวนดุสิตโพลล์ พบว่าผลการสำรวจเป็นไปตามที่โพลล์ทำนายไว้คือพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส. มากที่สุด

ประโยชน์ของการทำโพลล์ คือเป็นการเช็คกระแสความรู้สึก ความต้องการของสังคมว่าช่วงเวลานั้นกลุ่มเป้าหมายคิดหรือรู้สึกอย่างไร โพลล์ใช้ทำนายผลลัพท์ล่วงหน้า ผลที่ได้สามารถนำไปปรับใช้ในการดำเนินกลยุทธ์ต่างๆได้มากมายทั้ง เรื่องการเมือง สังคม และธุรกิจ

พบว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อการหาเสียงอย่างมากมาย และในทุกช่องทาง ทั้งสองพรรคการเมืองใหญ่ลงโฆษณาออนไลน์ทั้งกูเกิ้ล เฟสบุ๊ค มีการถ่ายทอดสดการปราศรัยทางอินเตอร์เน็ต นำภาพกิจกรรมหาเสียงในที่ต่างๆอัพโหลดขึ้นเว็บทุกวัน ดึงแฟนคลับเข้ามามีส่วนร่วมถล่มทลาย

ปัจจุบันประชากรบนโลกออนไลน์เป็นสิ่งที่ไม่มีใครมองข้ามอีกแล้ว เพราะนับวันมันยิ่งเติบโต หลายสิ่งที่เกิดขึ้นในไซเบอร์สเปซกลายเป็นกระแสนิยม เช่น เรื่องแพลงกิ้ง(ทำท่าคนตายนอนคว่ำตัวแข็ง)ที่คุณชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์นำไปเล่นตอนหาเสียง ทำให้ ได้ใจแล้วคงได้คะแนนเสียงจากวัยรุ่นไปไม่น้อย

คุยกันเล่นๆว่ากลยุทธ์เหล่านี้หากใช้กับธุรกิจ มันคงสร้างยอดขายหรือเสียงตอบรับให้กับเจ้าของกิจการอย่างมากมายภายในระยะเวลาแค่เดือนเศษเท่านั้น

มาถึงเรื่องการใช้โพลล์ในเชิงธุรกิจ เมื่อต้องการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งใช้เงินลงทุนมหาศาล เพื่อป้องกันการผิดพลาด อาจเริ่มต้นที่การสำรวจความคิดเห็นก่อน เช่นเรื่องความพึงพอใจในรูปลักษณ์ สี กลิ่น รส สัมผัส หรือเรื่องราคาที่เหมาะสม เป็นต้น

ตัวอย่างเพื่อนของผมกำลังอยากจะทำร้านอาหาร ผมแนะนำว่าให้สำรวจข้อมูล ความต้องการของคนในย่านนั้นก่อน เริ่มง่ายๆเช่นสำรวจร้านอาหารคู่แข่งในย่านเดียวกัน คนแถวนั้นเป็นใคร ทำงานอะไร รายได้เท่าไร่ การศึกษาชั้นไหน รสนิยมเป็นอย่างไรเป็นต้น

ข้อมูลเหล่านี้หากทำอย่างง่ายๆได้แก่การออกไปสอบถามพูดคุยด้วยตนเอง หากต้องการข้อมูลลึกๆปริมาณมาก และรอบด้าน ก็คงต้องจ้างบริษัทที่ทำวิจัยการตลาด ซึ่งส่วนใหญ่จะเก็บข้อมูลจากผู้ให้สัมภาษณ์เป็นหลักพันคนขึ้นไป

ความแม่นยำของโพลล์หรือผลการสำรวจความคิดเห็น วัดได้จากผู้ที่ทำโพลล์ว่ามีปริมาณมากพอ และเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการหรือไม่ ถ้าคุณสมบัติผู้ตอบโพลล์ตรงกับกลุ่มเป้าหมายและมีปริมาณมากพอ ผลของโพลล์นั้นก็จะมีความแม่นยำสูง

สำหรับเจ้าของกิจการขนาดเล็กที่ยังไม่มีทุนทรัพย์มากพออาจทำโพลล์ออนไลน์ทางเฟสบุ๊คได้ โดยใช้แอพพลิเคชั่น poll โดยพิมพ์คำว่า poll ในช่องค้นหา แล้วกดปุ่มอนุญาตให้แอพนี้เข้าถึงข้อมูลส่วนตัว จากนั้นคุณก็สามารถทำโพลล์ขึ้นมาเองได้

สร้างคำถาม แล้วสร้างคำตอบ เป็นช้อยส์ให้เลือก จากนั้นก็เผยแพร่ในเฟสบุ๊ค ให้เพื่อนๆช่วยกันแสดงความคิดเห็น ท่านก็จะได้ข้อมูลชุดหนึ่งสำหรับการดำเนินธุรกิจต่อไป โพลล์ที่ทำที่นี่สามารถแสดงความคิดเห็นต่อท้ายได้ ทำให้ได้ข้อมูลที่ละเอียดยิ่งขึ้น

ท่านอาจสร้างแรงจูงใจในการทำโพลล์ด้วยการให้รางวัล ถ้าของรางวัลมีเยอะก็ให้กับทุกคนที่ตอบโพลล์ แต่ถ้าของรางวัลน้อยมีมูลค่าสูงก็อาจจะเป็นการสุ่มให้รางวัลก็ได้

หากต้องการคำถามเชิงลึกหลายๆข้อ ท่านอาจสร้างแบบสอบถามที่ กูเกิ้ลด็อคhttps://docs.google.com แล้วเลือกสร้าง Form ระบุคำถามและคำตอบต่างๆ โดยทำได้หลายข้อ ก่อนที่จะส่งแบบฟอร์มนี้ไปให้เพื่อนๆตอบ

ช่วงนี้ทางกูเกิ้ลมีความเคลื่อนไหวต่างๆที่น่าสนใจ เช่น การที่จะเปิดตัว กูเกิ้ลพลัส https://plus.google.com เครือข่ายสังคมออนไลน์ออกมาแข่งกับ Facebook กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ โปรดรอด้วยความระทึก

ข่าวดีสำหรับ SMEs ไทยก็คือ กูเกิ้ล ร่วมกับ สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย, สสว, Webiz, Dotarai ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยนำธุรกิจของตนเองเข้าสู่โลกอินเตอร์เน็ต กับ www.goonline.in.th

โดยท่านสามารถสร้างเว็บไซต์ฟรีที่นี่ ใช้โดเมนฟรี 1 ปี(เว็บนามสกุล .in.th และ .co.th) โปรโมทธุรกิจใน Google Maps และมีเครดิตให้ลองโฆษณาในกูเกิ้ลฟรีมูลค่า 3,000 บาท พร้อมอบรมสอนการใช้งานให้ฟรีอีกต่างหาก มีศูนย์ประสานงานในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ สนใจโทร 02 257 7299

เว็บที่สร้างขึ้นที่นี่ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน เรียนรู้และปรับแต่งได้ด้วยตนเอง ตัวอย่างเว็บ www.anyroom.in.th ร้านเฟอร์นิเจอร์มีดีไซน์ บนสยามดิสคัฟเวอรี่ ของคุณดวงฤทธิ์ บุญนาค สถาปนิกชื่อดัง

นับว่ากูเกิ้ลทุ่มทุนสร้างเป็นอย่างมาก เจ้าของกิจการทั้งหลายไม่ควรพลาด หลังจากเสียส่วนแบ่งการตลาดด้านโฆษณาออนไลน์ให้กับเฟสบุ๊ค นี่คงเป็นอีกความพยายามหนึ่งของกูเกิ้ลที่จะดึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆเข้ามาใช้บริการ เพื่อเป็นลูกค้าต่อไป

หวังว่าเรื่องโพลล์ออนไลน์ และเว็บไซต์ฟรีค่ายกูเกิ้ลที่แนะนำในครั้งนี้ คงเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจทำธุรกิจในโลกออนไลน์ทุกท่าน พบกันใหม่ฉบับหน้าครับ

E-book ช่องทางสร้างรายได้ ของนัก(อยาก)เขียน

ช่วงนี้ผมมีเหตุให้ต้องติดตามข่าวสารบ้านเมืองอย่างใกล้ชิด จึงต้องเปิดเว็บข่าวของสำนักต่างๆอ่านถี่ยิบทั้งเช้าค่ำ พบว่าข่าวจากเว็บสื่อสิ่งพิมพ์จะให้ข้อมูลอย่างย่อและจำกัด อ่านแล้วไม่จุใจจึงมีความคิดจะสมัครซื้อหนังสือพิมพ์ออนไลน์มาอ่าน เพราะแผงหนังสือแถวบ้านผมที่ต่างจังหวัดหาซื้อหนังสือแนวนี้ยากมาก

ตอนที่แล้วคอลัมน์นี้บอกว่ายอดขายอีบุ๊คของเว็บอเมซอนแซงหน้าหนังสือกระดาษจริงๆไปแล้ว แนวโน้มของธุรกิจหนังสือที่ไหนๆก็คงเป็นเช่นนี้ คนอ่านหนังสือจากอินเตอร์เน็ตมากขึ้น ทั้งจากจอคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์สื่อสารอื่น เพราะมันสะดวกง่ายดายไม่ต้องถือหนังสือหนักๆหลายๆเล่มไปไหนมาไหน

นิตยสารและหนังสือพิมพ์ดังๆกำลังปรับตัวเข้าสู่อีบุ๊ค ข้อดีของสำนักพิมพ์คือไม่ต้องลงทุนพิมพ์หนังสือออกมาเป็นเล่มๆ ไม่มีปัญหาเรื่องการกระจายสินค้าหรือการจัดจำหน่าย แต่สามารถขายให้กับลูกค้าที่ต้องการอ่านหนังสือดาวน์โหลดไปอ่านได้จากทุกที่ทั่วโลก

ขณะนี้มีนักเขียนออนไลน์แจ้งเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เคยได้ยินว่าวัยรุ่นญี่ปุ่นชอบอ่านนิยายที่ดาวน์โหลดจากอินเตอร์เน็ต ส่งผลให้นักเขียนออนไลน์ญี่ปุ่นล่ำซำกันทั่วหน้า ผลิตงานกันแทบไม่ทัน เพราะได้ค่าลิขสิทธิ์เป็นกอบเป็นกำจากการดาวน์โหลด

เรื่องแบบนี้มีคนมาปรึกษาผมหลายคน ทำนองว่าเขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งจะจัดพิมพ์ หรือเสนอสำนักพิมพ์ยังไง คำแนะนำของผมคือเสนอให้สำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือแนวเดียวกับที่เราเขียนพิจารณา แล้วรอคำตอบ ถ้าได้พิมพ์ก็รอรับตังค์ ถ้าไม่ได้พิมพ์ก็เสนอที่อื่นต่อไป

ถ้าหากมีทุนรอนพิมพ์หนังสือเองก็พิมพ์มันขึ้นมาเลยครับ หาคนมาจัดอาร์ตเวิร์ค ทำปกสวยๆ หาโรงพิมพ์ ทำออกมาเป็นเล่มแล้วจึงติดต่อบริษัทจัดจำหน่าย รายใหญ่ๆของบ้านเราก็ได้แก่ซีเอ็ด อัมรินทร์ หรือจะใช้บริการเครือมติชนก็มี บริษัทงานดี จำกัดนั่นเอง

การพิมพ์หนังสือ 1 เล่มท่านอาจจะใช้เงินหลักหมื่นไปจนถึงหลักแสน เพราะต้นทุนค่ากระดาษมีราคาสูงมาก ถ้าพิมพ์จำนวนน้อยต้นทุนต่อเล่มก็จะสูง พิมพ์มากถึงต้นทุนต่อเล่มถูก แต่ก็ต้องใช้เงินลงทุนสูง เช่นพิมพ์ 1,000 เล่ม อาจจะเล่มละ 50 บาท ใช้เงินทั้งหมด 50,000 บาท แต่ถ้าพิมพ์ 3,000 เล่มถึงจะเล่มละ 30 บาท แต่ใช้เงิน 90,000 บาท

แต่ความจริงท่านสามารถลองตลาดผลงานเขียนของท่านด้วยการทำเป็น ebook ให้คนลองดาวน์โหลดไปอ่านดูก่อนได้ อาจจะทำสัก 1-2 บท ถ้าได้รับความนิยม จึงค่อยทำเป็น ebook ฉบับเต็มวางขายเสียเลย

ต้นทุนการทำ ebook แทบไม่ต้องใช้เงินเลย หรืออย่างมากก็หลักพันบาท มันจึงเป็นเหตุผลให้ ebook ถูกกว่าหนังสือที่เป็นกระดาษจริงๆ กว่าครึ่ง คนอ่านได้อ่านหนังสือราคาถูก ผู้ผลิตก็ไม่ต้องลงทุนเยอะวินๆกันทั้ง 2 ฝ่าย

ท่านสามารถสร้าง ebook ได้ที่ www.ilovelibrary.com มีโปรแกรมสำหรับสร้าง ebook ให้ใช้งานฟรี สำหรับ ebook ที่ให้ดาวน์โหลดอ่านฟรี แต่ถ้าจะทำอีบุ๊คขายก็จะต้องซื้อโปรแกรมอีกแบบหนึ่งค่าใช้จ่ายไม่มากอย่างที่ว่า ลองโทรไปปรึกษาเขาดูครับ ข้อดีของอีบุ๊คที่สร้างขึ้นที่นี่คือจะมีการพลิกหน้าอ่านได้ให้ความรู้สึกเหมือนหนังสือจริงๆ

ท่านสามารถสร้าง ebook ที่อ่านได้ด้วย iPad สมาร์ตโฟน หรือ อุปกรณ์สื่อสารอื่นได้ที่ www.ebooks.in.th มี ebook ทั้งแบบอ่านฟรี และเสียเงินซื้อ อีบุ๊คของที่นี่ไม่ต้องใช้โปรแกรมการสร้างที่ซับซ้อนเพราะเป็นไฟล์นามสกุล pdf ท่านสามารถเปลี่ยนไฟล์เป็นนามสกุล pdf ได้ที่ www.primopdf.com

เมื่อท่านสร้าง ebook ได้ชำนาญแล้ว ท่านอาจจะรับจ้างสร้าง ebook ได้ค่าแรงเป็นเล่มๆ หรือตั้งตนเป็นสำนักพิมพ์ที่ทำ ebook ขายเลยก็ได้ ถ้าท่านมีเว็บของตนเองอยู่แล้ว ท่านสามารถนำโค้ดจากเว็บ ebook ทั้ง 2 แห่งข้างต้น ไปติดที่เว็บไซต์เพื่อเชื่อมโยงมายังอีบุ๊คของท่าน

แต่ต้องยอมรับก่อนว่ากระแสอีบุ๊คสำหรับประเทศไทยยังไม่แรงนัก คนทั่วไปนิยมอ่านฟรี แต่ถ้าให้เสียเงินซื้ออาจจะลำบากสักหน่อย อาจจะต้องใช้เวลาอีกสักเล็กน้อย แต่ถ้า ebook ของท่านเป็นเรื่องเฉพาะที่หาอ่านทั่วไปไม่ได้ง่ายๆ และคนต้องการรู้ ก็น่าจะขายได้ดี

คนชอบเขียนหนังสืออาจจะมีรายได้อีกทางจากการเขียนบล็อกที่ www.blogger.com แล้วนำโฆษณาของกูเกิ้ลมาติด แล้วจะมีได้รายได้จากคนที่เข้ามาอ่านบล็อกแล้วคลิกโฆษณา โดยสมัครเอาโฆษณาของกูเกิ้ลมาติดได้ที่ http://google.com/adsense

ตัวอย่างของบล็อกแบบนี้คือ http://athichen.blogspot.com บล็อก เรื่องประกอบ รวบรวมบทกวีและนิทานของผู้ใช้นามปากกาว่า อาทิเช่น

อาชีพนักเขียนเป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้ยากในประเทศไทยเพราะผลตอบแทนน้อย ถ้าผลงานไม่ได้ตีพิมพ์ก็ขาดรายได้ แต่โลกออนไลน์เปิดโอกาสให้กับนักเขียนได้แสดงฝีมือ เผยแพร่ผลงาน และมีโอกาสมีรายได้อีกทางหนึ่งได้อีกด้วย

แม้ว่าช่วงต้นอาจจะยังได้ไม่มากมายนัก แต่ก็ทำให้การเดินทางบนถนนนักเขียนไม่เดียวดาย และแร้นแค้นเกินไปนัก.

11 มิถุนายน 2554

โมบายเว็บ CamStudio และ ebook

ในที่สุดผมก็อดใจไม่ไหว ต้องไปถอยแท็บเล็ตออกมา 1 เครื่อง ซัมซุงกาแล็กซี่แท็ป เหตุที่ซื้อยี่ห้อนี้ เพราะมันทำงานได้สารพัดทั้งเล่นเน็ต ถ่ายรูป ถ่ายวีดีโอ ขนาดเหมาะมือ พกสะดวก เหมือนเป็นทั้งคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือในเครื่องเดียวกัน โปรแกรมต่างๆก็ให้ใช้งานฟรี ไม่เหมือนไอแพดจะใช้งานอะไรก็ต้องซื้อตลอด

แต่หลังซื้อเพียง 2 สัปดาห์ราคาร่วงลงมาอีก 2 พันบาท เซ็งเลย

ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของแท็ปเล็ตคือมันมีแบตเตอรี่ยาวนาน เมื่อไม่ใช้งานมันจะเข้าสู่ระบบเซฟโหมดเหมือนโทรศัพท์มือถือ ไม่ต้องคอยปิดเปิดเครื่องเหมือนโน้ตบุ๊ค แทปเล็ตและสมาร์ตโฟนทั้งหลายจึงทำให้การออนไลน์เป็นไปอย่างสะดวกง่ายดาย โพส์ตข้อความ ถ่ายรูปแล้วอัพโหลดขึ้นเฟสบุ๊ค ถ่ายวีดีโอแล้วอัพโหลดขึ้นยูทูป ไม่เกิน 10 นาทีเรียบร้อย

เมื่อได้ลองใช้แท็บเล็ตท่องเว็บพบว่าคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คก็ยังดีกว่าวันยังค่ำ แท็ปเล็ตได้คะแนนเรื่องความรวดเร็วสะดวกสบายเท่านั้น โปรแกรมที่ใช้บนแท็บเล็ตก็เพียงแค่ทำงานได้อย่างหยาบๆ หากต้องการทำงานละเอียดก็ต้องไปทำที่เครื่องคอมพิวเตอร์ตัวใหญ่อยู่ดี

เรื่องของเทคโนโลยี บางคนก็ซื้อเพราะเป็นแฟชั่น เห็นคนอื่นมีก็อยากมีบ้าง ใช้งานจริงๆไม่เป็น หรือซื้อมาใช้งานเพียงไม่กี่อย่าง ไม่คุ้มกับความสามารถที่มันมี เช่น ซื้อไอโฟน แต่ใช้เพียงรับสาย กับโทรออก อย่างนี้ซื้อเครื่องโทรศัพท์มือถือเครื่องละ 1 พันบาทก็พอไม่ต้องถึง 2-3 หมื่น

สิ่งต่างๆมักสวนทางกันเช่นนี้คือเด็กๆเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว แต่ไม่มีกำลังซื้อ ขณะที่ผู้ใหญ่มีกำลังซื้อแต่มักใช้งานเทคโนโลยีเหล่านั้นไม่ค่อยเป็น ที่เนเธอร์แลนด์จึงมีบริการพิเศษให้เด็กๆรับจ็อบสอนการใช้งานโทรศัพท์มือถือให้กับผู้ใหญ่ ลองเข้าไปเยี่ยมชมกิจการได้ที่ www.bellendoejezo.com นับว่าเข้าท่าทีเดียว

ใครจะเอาไอเดียนี้มาทำธุรกิจของตัวเองที่เมืองไทยบ้างก็คงจะดีไม่น้อย

ก่อนหน้านี้ผมเคยคิดจะทำวีดีโอสอนเรื่องเกี่ยวกับการใช้งานอินเตอร์เน็ตเล็กๆน้อยๆ โดยใช้โปรแกรมที่จับภาพหน้าจอคอมพิวเตอร์ทำเป็นวีดีโอ พบว่าต้องใช้โปรแกรม Camtasia Studio เขาให้ใช้งานฟรีเพียง 30 วัน หลังจากนั้นก็ต้องซื้อเป็นเงินเกือบหมื่นบาท

หากคิดจะ ลักไก่ ด้วยการหาโปรแกรมที่ปลดล็อคมาใช้งาน หรือลงทะเบียนในชื่อใหม่ทุกๆ 30 วัน ก็รู้สึกว่าเป็นการเอาเปรียบเจ้าของโปรแกรมมากเกินไป จึงรีๆรอๆไม่ได้ดำเนินการอะไรสักอย่าง

ผมดีใจมากเมื่อวันหนึ่งเข้าเว็บ https://chrome.google.com/webstore แล้วพบโปรแกรมที่มีประสิทธิภาพการทำงานเหมือนโปรแกรม Camtasia Studio มันชื่อโปรแกรม CamStudio ให้ใช้งานฟรี จึงลองดาวน์โหลดมาใช้ดู พบว่าไม่ผิดหวัง เพียงแต่ว่าขณะที่โปรแกรมทำงานเราต้องออนไลน์อยู่เท่านั้นเอง

โทรศัพท์มือถือหรือแท็ปเล็ตมีกล้องที่สามารถบันทึกวีดีโอต่างๆได้ แต่การจะบันทึกภาพที่อยู่บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ จำเป็นต้องใช้โปรแกรมโดยเฉพาะ เพื่อความคมชัด และสวยงาม CamStudio เหมาะมากและใช้งานง่าย ถ้าท่านเป็นครูหรือติวเตอร์ท่านสามารถทำวีดีโออธิบายวิชาต่างๆ ใช้ลูกศิษย์ชมได้

ถ้าท่านเป็นเจ้าของธุรกิจท่านก็สามารถพรีเซ้นต์สินค้าและบริการของท่านด้วยวีดีโอนี้ รูปภาพต่างๆที่ท่านถ่ายมาแทนที่จะทำเป็นสไลด์เฉยๆ ท่านสามารถแทรกเสียงบรรยาย ใส่เพลงประกอบได้ด้วยโปรแกรมนี้ เมื่อทำวีดีโอเสร็จเสร็จแล้วต้องการเผยแพร่สู่สาธารณะ ก็อัพโหลดขึ้นเฟสบุ๊คหรือยูทูปให้คนทั่วไปชมได้อีกด้วย

นับวันผู้คนที่ออนไลน์ด้วยสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตมีมากยิ่งขึ้น เว็บที่เปิดด้วยอุปกรณ์เหล่านี้จะเป็นแบบย่อส่วน ไม่เต็มรูปแบบเหมือนเว็บที่เปิดด้วยคอมพิวแตอร์ทั่วไป เว็บเหล่านี้เรียกว่า Mobile Website ท่านสามารถสร้างได้ที่ http://moably.com หรือ http://winksite.com

ท่านที่สร้าง Mobile Website แล้วสามารถนำโฆษณาของกูเกิ้ลไปติดที่เว็บของท่านเพื่อสร้างรายได้ได้อีกด้วย เพราะเมื่อเร็วๆนี้กูเกิ้ลได้เพิ่ม Google Adsense สำหรับเนื้อหาบนมือถือขึ้นมาอีกรายการหนึ่ง คงได้รับความนิยมอย่างสูงในไม่ช้า

แนวโน้มเรื่องออการออนไลน์ด้วยโทรศัพท์มือถือทำให้ผู้พัฒนาโปรแกรมขานรับไปตามกระแส เช่น กูเกิ้ลมือถือ www.google.com/intl/th_ALL/mobile มีโปรแกรมต่างๆที่สามารถใช้งานได้อย่างง่ายดายบนโทรศัพท์มือถือ ทั้ง iPhone, BlackBerry,Nogia S60,Android และอื่นๆ

ตั้งข้อสังเกตว่าโปรแกรมต่างๆที่มาจากกูเกิ้ลมักให้ใช้บริการฟรี เช่น มือถือหรือแท็ปเล็ตตระกูลแอนดรอยด์ ผิดกับอุปกรณ์ที่มาจากแอ๊ปเปิ้ลอย่าง iPhone หรือ iPad จะใช้งานโปรแกรมอะไรสักอย่างหนึ่งก็ต้องเสียเงินซื้อ

แต่ปัจจุบันการควักเงินซื้อโปรแกรมบางอย่างมาใช้งานก็ไม่เป็นเรื่อง ยาก หรือ แปลกอีกต่อไปแล้ว ข้อดีของมันคือทำให้ผู้พัฒนาโปรแกรมหรือแอฟพิเคชั่นมีแรงจูงใจในการทำงาน เราจะได้มีโปรแกรมเจ๋งๆไว้ใช้

ที่เห็นคนไทยทำอย่างเป็นล่ำเป็นสันก็คือการทำนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ในรูปแบบ ebook อ่านได้บนไอแพด และอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ เสียค่าบริการถูกกว่าซื้อหนังสือกระดาษจริงเช่น โพสต์ทูเดย์ http://www.posttoday.com/e-paper.php, กรุงเทพธุรกิจ http://www.bangkokbiznews.com/home/services/i-news

ตบท้ายด้วยข่าว 2 ที่อ่านพบเมื่อเร็วๆนี้ คือ นิตยสารเพลย์บอย นิตยสารผู้ชายคลาสิกของโลกปรับตัวเข้าสู่ ebook แล้วสามารถอ่านได้บน iPad เป็นสมาชิกเริ่มต้นที่เดือนละ 8 เหรียญดอลล่าห์สหรัฐเท่านั้น ที่ http://i.playboy.com สิ่งนี้ช่วยเพิ่มน้ำหนักให้กับข่าวที่ 2 ที่ว่ายอดขาย ebook แซงหน้าหนังสือที่เป็นกระดาษจริงแล้ว

เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบนเว็บค้าขายระดับโลกอย่าง www.amazon.com

21 พฤษภาคม 2554

อินเตอร์เน็ตทีวี มาแล้ว มาแรง

เมื่อเร็วๆนี้ เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางเรื่องของ เรยา ในละครดอกส้มสีทอง ว่าสมควรจะถูกเซ็นเซอร์หรือไม่ เพราะกลัวว่าเยาวชนจะเอาเป็นเยี่ยงอย่าง สำหรับความเห็นของผม ผมว่าหลายเรื่องในทีวี อาทิ การปล่อยให้ผู้ใหญ่นิสัยไม่ดีบางคนออกมาพูดโกหก ตลบตะแลง ให้ร้ายคนอื่น อย่างไร้ยางอาย น่าเซ็นเซอร์มากกว่า แต่ไม่ยักทำ

มันเป็นไปตามหลักอุปสงค์อุปทาน มีผู้ชมจึงมีการผลิตรายการอย่างที่ว่า ละครบางเรื่องฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่า น้ำเน่าเหลือเกิน แต่ก็มีคนดู ผมเชื่อว่าเยาวชนสมัยนี้ฉลาด มีวิจารณญาณ รู้จักเลือกครับ ผมเองตอนนี้ก็เลิกดูทีวีไปนานแล้ว เพราะขี้เกียจดูหนังโฆษณา กว่าจะได้ดูละครหรือรายการสักตอนหนึ่ง ชมโฆษณาจนลืมไปว่าตอนที่ผ่านมาไปถึงไหนแล้ว

ตอนนี้ละครทีวีหรือรายการโทรทัศน์หลายๆรายการมีการทำเป็นคลิปขึ้นเว็บ ให้เรารับชมย้อนหลังได้ทางอินเตอร์เน็ต ข้อดีของการรับชมทางอินเตอร์เน็ตคือเราสามารถเลือกดูเฉพาะสิ่งที่เราสนใจเท่านั้น ลองติดตามที่ ช่อง 3 www.thaitv3.com, ช่อง 5 www.tv5.co.th, ช่อง 7 www.ch7.com, ช่อง 9 www.mcot.net

การที่ผู้ชมสามารถกำหนดสิ่งที่ตัวเองต้องการจะดูได้ทางอินเตอร์เน็ตทีวี ทำให้เขาตั้งใจดูกว่าทางทีวีทั่วไป ซึ่งมักเปิดเครื่องทิ้งไว้แล้วทำธุระอย่างอื่นไปพร้อมๆกัน ดูบ้างไม่ดูบ้าง สิ่งนี้กลายเป็นจุดขายโฆษณาสำคัญของสื่อทางอินเตอร์เน็ต เว็บอินเตอร์เน็ตทีวีหลายรายการขายโฆษณาได้แล้ว บ้างก็เป็นโฆษณาภาพแปะบนเว็บ บ้างก็เป็นคลิปโฆษณาก่อนเข้าสู่รายการ

เราอาจเคยเห็นละครซิตคอมหลายเรื่องโฆษณาสินค้าแฝงในละคร เป็นอุปกรณ์ตกแต่งฉาก อยู่ในประโยคสนทนาของตัวเอกและอื่นๆอีกสารพัด ลองดู www.sausagemansion.com ละครซอสเสจแมนชั่น เป็นซิตคอมที่รับชมได้ทางอินเตอร์เน็ต ทำขึ้นเพื่อโฆษณาไส้กรอกของซีพี พระเอกเป็นชื่อไส้กรอก นางเอกชื่อทัพพี สนุกดีทีเดียวเชียว

เดี๋ยวนี้แม้แต่เว็บของสื่อสิ่งพิมพ์เกือบทุกแห่งก็จะมีคลิบข่าวให้คนรับชม เพราะต้องยอมรับว่าการดูภาพเคลื่อนไหวน่าสนใจกว่าการมีแต่ตัวหนังสือและภาพนิ่ง ตัวอย่างเช่น เว็บของมติชน www.matichon.co.th และหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ www.bangkokbiznews.com ต่อไปเมื่อนักข่าวเมื่อไปสัมภาษณ์แหล่งข่าว เขาคงต้องบันทึกคลิปการสัมภาษณ์ไปลงที่เว็บด้วย

ตัวอย่างของคนทำนิตยสารที่ขยับมาทำอินเตอร์เน็ตทีวี คือวงค์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ผู้ก่อตั้งนิตยสาร aday ตอนนี้เขาทำรายการทีวีทางอินเตอร์เน็ตชื่อ aHere ทาง www.ihere.tv เป็นรายการสัมภาษณ์คนที่เขาอยากจะคุยด้วยตามสไตล์ของเขา แขกรับเชิญรายการที่ผ่านมาได้แก่ เนวิน ชิดชอบ ตูน บอดี้สแลม และตัน ไม่ตัน(โออิชิ)

www.ihere.tv ปัจจุบันมีผู้เข้าชม 18 ล้านคนแล้ว รายการยอดนิยมได้แก่ เจาะข่าวตื้น โดย จอห์น วิญญู สโลแกนของรายการคือ ดูถูกสติปัญญา เนื้อหารายการจะเสียดสีสังคม ประชดการเมือง ด้วยลีลากวนๆ ขำๆ ยียวน สนุกสนาน มีคนติดตามมากมาย ได้ข่าวว่ารายการนี้โด่งดังจนกำลังจะได้ไปฉายในรายการทีวีจริงๆแล้ว

อินเตอร์เน็ตทีวีเป็นเวทีให้เด็กรุ่นใหม่ ไฟแรงหลายคนได้แสดงออก อาทิ น้องปลื้ม (ลูกชายคุณชวน หลีกภัย)ทำรายการ “VRZO” รายการที่จะถามคำถามกับเพศตรงข้ามแทนคุณ 100 คน กับคำถามที่หลายคนอยากรู้แต่ไม่กล้าถาม อาทิ คิดอย่างไรกับชุดนักศึกษาฟิตเปรี๊ยะ หากจับได้ว่าแฟนมีกิ๊กจะ ตัดหรือไม่ตัด ชมตัวอย่างรายการที่ http://youtu.be/he7vDrDSloQ

www.fukduk.tv เป็นทีวีทางอินเตอร์เน็ตรุ่นบุกเบิกของเมืองไทย มีหลายรายการ อาทิ รายการ มหาเนิร์ด เกี่ยวกับ IT และเทคโนโลยี รายการบางกอกกลิ้ง ท่องเที่ยวกรุงเทพ กำไข่ ใส่ข่าว ประเด็นสังคม ชิวหาพาชิม เรื่องอาหารการกิน เป็นรายการทีวีทางเลือกโดยคนรุ่นใหม่ ลองเข้าไปรับชมได้ครับ

แท็บเล็ตและสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ๆที่ออกมาทำให้การออนไลน์เป็นเรื่องง่ายขึ้น อัพโหลดภาพ โพสต์ข้อความ หรือบันทึกคลิปวีดีโด แล้วเอาขึ้นเว็บ ใช้เวลาแป๊บเดียวเท่านั้น ตัวอย่างอินเตอร์เน็ตทีวีที่กล่าวมาข้างต้นมีกระบวนการผลิตที่ทันสมัย มีการตัดต่อ ใส่เพลงประกอบ มีเอฟเฟค น่าตื่นตาตื่นใจ คนธรรมดาทั่วๆไปทำไม่ได้ง่ายๆ แต่ลองดูตัวอย่างต่อไปนี้

รายการครัวกากๆ www.gaggag.tv โดย เชฟหมี ชายอ้วนใส่เสื้อกล้าม สวมแว่นสีชามาแสดงวิธีการทำอาหารโดยใช้ของเหลือๆจากตู้เย็น ถ่ายทำโดยกล้องธรรมดา หรืออาจจะเป็นโทรศัพท์มือถือด้วยซ้ำ ใครๆก็ทำได้ สำคัญที่เนื้อหามากกว่า พิธีกรพูดไปสบถไป แต่คลิปนี้มีผู้เข้าชมนับล้านคนแล้ว

เชฟหมี เป็นอาจารย์สอนวิชาปรัชญา ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร คิดทำรายการนี้ขึ้นมาเพราะวันหนึ่งไปค้างบ้านเพื่อนแล้วตื่นขึ้นมาหิว แต่ไม่อยากลงไปซื้อของกินข้างล่าง จึงหาของที่เหลือๆจากตู้เย็นมาทำเป็นอาหาร จากนั้นก็ถ่ายทอดให้คนอื่นชมทาง Youtube.com ได้ไปออกรายการของคุณแหม่มสุริวิภาที่ช่อง 9 และอื่นๆอีกหลายรายการ โด่งดังเป็นที่เรียบร้อย

เล่ามาทั้งหมดนี้เพื่อที่จะบอกว่า ปัจจุบันทีวีทางอินเตอร์เน็ตกำลังมีบทบาทและเป็นที่นิยมมากขึ้นทุกที เป็นสื่อที่เข้าถึงง่ายทั้งผู้ชมและผู้ผลิตรายการ เร็วๆนี้กูเกิ้ลก็จะออกกูเกิ้ลทีวี ทีวีที่เล่นเน็ตได้ออกมา วงการนี้คงคึกคักมากยิ่งขึ้น คุณสามารถชมการทำงานของกูเกิ้ลทีวีได้ที่ http://www.google.com/tv

เรื่องที่คุณสนใจ เรื่องที่คุณเชี่ยวชาญ เรื่องรอบๆตัวคุณ แปรรูปมันเป็นคลิปวีดีโอง่ายๆ ด้วยเครื่องมือที่คุณมี แล้วอัฟโหลดขึ้นเว็บแบ่งปันให้คนอื่นได้ชม ถ้าสิ่งนั้น เจ๋ง จริง จะมีคนเข้ามาดูจำนวนมากแล้วเกิดการบอกต่อ และวันหนึ่งมันจะมีมูลค่าขึ้นมา

ผมเชื่อว่าอินเตอร์เน็ตทีวีจะสร้างฮีโร่หน้าใหม่ๆอีกมากมายขึ้นมาในวงการสื่อสารมวลชน หนึ่งในนั้นผมอยากให้มีแฟนคอลัมน์ของเศรษฐีออนไลน์บ้างเท่านั้นเอง.

6 พฤษภาคม 2554

เว็บ “ท้องถิ่น(นิยม)”

เมื่อกลางปีที่แล้วผมตัดสินใจมาใช้ชีวิตอยู่ต่างจังหวัดด้วยเหตุผลว่ามัน น่าอยู่ กว่ากรุงเทพในหลายๆเรื่อง ที่สำคัญคือเรื่องคุณภาพชีวิต ทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพกาย กรุงเทพมีแต่ตึกและรถ แย่งกันอยู่ แย่งกันกิน แย่งกันใช้ อากาศที่หายใจมีแต่มลพิษ แทบทุกบ้านต้องมีเครื่องปรับอากาศ ชีวิตที่เร่งรีบจนแทบไม่มีเวลาทำอาหาร ต้องกินข้าวนอกบ้านทุกมื้อ

ผมเคยเดินทางจากลาดพร้าวไปสีลมระยะทางไม่ถึง 20 ก.ม.ใช้เวลาเดินทางร่วม 2 ชั่วโมง รถขยับทีละนิดๆ น่าอึดอัดมาก บ้านผมที่ต่างจังหวัดอยู่อำเภอหนองกี่ ห่างจากจังหวัดนครราชสีมา และบุรีรัมย์ ประมาณ 80 ก.ม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้น อยู่ต่างจังหวัดเวลาเป็นของเราเต็มๆ

หลายคนที่อยู่กรุงเทพคงมีเหตุผลสำคัญคือเรื่องเศรษฐกิจ อยู่ในเมืองมีงานให้เลือกทำมากมาย ค่าแรงดีกว่าต่างจังหวัด แต่ต้องไม่ลืมว่าอยู่เมืองกรุงค่าใช้จ่ายย่อมสูงตามไปด้วย เบ็ดเสร็จแล้วอาจจะติดลบเลยก็ได้ ทว่าการจะย้ายกลับไปอยู่ต่างจังหวัดก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี วันนี้ผมจึงอยากชวนท่านมาหาคำตอบ

ผู้ประกอบการท้องถิ่น

ถ้าไม่นับเรื่องอาชีพที่ขัดต่อศีลธรรมจำพวกหวยหุ้นที่ออกรางวัลกันทุกวันซึ่งเฟื่องฟูมากที่ต่างจังหวัดแล้ว ผมยังพบว่ามีอาชีพที่คนที่นี่ทำและมีรายได้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยไม่ต้องเป็นลูกจ้างและไม่ต้องง้อของานใครทำ

เรียนจบปริญญาตรีมาหากไปทำงานประจำเงินเดือนอาจจะประมาณ 1 หมื่นบาท หลายคนเลือกกลับต่างจังหวัดมาประกอบอาชีพของตนเอง ช่วงยางพาราราคาดีพบว่ามีบัณฑิตปริญญาตรีรับจ้างกรีดยางอยู่ทั่วไป แบ่งรายได้ 40:60 กับเจ้าของสวนยาง มีรายได้เดือนละหลายหมื่น เป็นอาชีพที่ไม่ต้องมีทุนรอนมากมาย

วันก่อนไปกินข้าวต้มโต้รุ่งที่อำเภอใกล้ๆนี้ น้องผู้หญิงคนหนึ่งเดินไปมาอยู่ในร้านถามได้ความว่าเป็นเจ้าของร้าน จบปริญญาตรี เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เธอมีลูกน้องช่วยงานนับสิบคน ลูกค้าเต็มร้าน ตอนนั้นโต๊ะหนึ่งเรียกเช็คบิลเป็นเงิน 4 พันกว่าบาท(มีเหล้าด้วย) คืนหนึ่งร้านนี้น่าจะขายได้หลายหมื่น รายได้ขนาดนี้คงทำให้เธอหายเหนื่อยได้เช่นกัน

เดินเข้าไปในตลาดประจำอำเภอพบแม่ค้าขายของชำหน้าใส ถามได้ความว่าเรียนจบปริญญาตรีการตลาดจากมหาวิทยาลัยเดียวกัน ตอนจบใหม่ๆมีธนาคารแห่งหนึ่งเสนองานให้ แต่เธอปฏิเสธเพราะต้องการกลับมาดูแลแม่และช่วยกิจการที่บ้าน นับว่าไม่ผิดหวังเพราะตอนนี้เธออายุยังไม่ถึง 30 ปี แต่มีรายได้เท่ากับผู้จัดการธนาคาร โดยไม่ต้องไปแก่งแย่งชิงตำแหน่งกับใคร

ที่ใดมีคนที่นั่นมีกำลังซื้อ ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคของต่างจังหวัดนับว่าโตมากๆ ร้านขายของชำในอำเภอที่ผมอยู่เพิ่งเปิดร้านมาประมาณ 6 เดือน ยอดขายวันละ 50,000 บาท เจ้าของร้านเล่าว่า ร้านมินิมาร์ทในตลาดขายดีกว่านี้อีก ยอดขายวันหนึ่งเป็นแสน ทั้งที่มี 4 ร้านทั้ง 4 มุมของตลาด แข่งกันขายของถูก

ร้านเซเว่นหรือเฟรนส์ไชน์มินิมาร์ทไหนๆถ้าคิดจะมาตีตลาดที่นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

ผู้ประกอบการท้องถิ่นออนไลน์

เมื่อมีผู้ประกอบการที่มีความรู้ มีการศึกษามากขึ้น หลายสิ่งหลายอย่างก็ตามมา อาทิ การประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการ ผมเคยใช้บริการลงโฆษณากับวิทยุท้องถิ่นของที่นี่ พบว่ามีค่าใช้จ่ายถูกจริงๆ เดือนละ 1,000 บาทเท่านั้น ออกอากาศทุกวันช่วงเช้า

คนที่ฟังรายการวิทยุก็ยังมี เพราะสามารถฟังไปด้วยทำงานไปด้วยได้ การดูรายการโทรทัศน์อาจจะได้ข่าวสารสาระที่ไกลตัวออกไปเพราะผู้ผลิตรายการทำให้คนดูทั้งประเทศ แต่รายการวิทยุพูดเรื่องใกล้ตัว จับต้องได้มากกว่า

ด้านอินเตอร์เน็ตเดี๋ยวนี้มีใช้กันแทบทุกบ้านเหมือนโทรศัพท์ เด็กมัธยมแทบทุกคนมีเฟสบุ๊คเป็นของตนเอง ผมเคยลงโฆษณาที่เฟสบุ๊คโดยจำกัดกลุ่มเป้าหมายเป็นคนในจังหวัดนครราชสีมาและบุรีรัมย์ พบว่ามีการแสดงผลหลักหมื่นและมีคนคลิกเข้ามาอ่านวันละหลายสิบคนเลยทีเดียว

ไอเดียหนึ่งที่ผมอยากทำและอาจจะเริ่มทำในไม่ช้านี้ ทุกท่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ คือการทำเว็บไซต์ท้องถิ่น อาจจะเป็นเว็บอำเภอหรือตำบลที่ท่านอาศัยอยู่ ปัจจุบันหน่วยราชการก็มีการทำอยู่บ้างแล้ว แต่ผมพบว่ายังเป็นเว็บที่ไม่น่าสนใจเท่าไหร่

ข้อมูลในเว็บน่าจะเป็นการรวบรวมสถานประกอบการต่างๆ ประชาสัมพันธ์กิจกรรมที่จะเกิดขึ้น แหล่งขายที่ดิน บ้านเช่า ขายรถ โอท็อป และสินค้าต่างๆ รวมถึงเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของคนในชุมชน ช่วงต้นประชาสัมพันธ์ให้ฟรี เมื่อเว็บเป็นที่นิยมแล้วจึงค่อยเก็บค่าโฆษณา

เครื่องมือที่ใช้สร้างเว็บที่ว่านี้ท่านอาจจะใช้บริการของฟรีต่างๆที่เคยแนะนำไปแล้วได้แก่ เว็บไซต์ฟรี http://sites.google.com , แผนที่ฟรีที่ http://maps.google.co.th , ปฏิทินฟรีที่ http://www.google.com/calendar

ท่านอาจจะเปิดบัญชีเฟสบุ๊คที่เป็นชื่อท้องถิ่นของท่านด้วย เพื่อดึงคนเข้าเว็บไซต์ และใช้อัพเดทเหตุการณ์ต่างๆอย่างรวดเร็ว ท่านอาจจะบันทึกคลิปวีดีโอเล่าเรื่องของท้องถิ่นท่าน ทำเป็นรายการทีวีออนไลน์ติดที่เว็บ โดยอับโหลดคลิปของท่านได้ที่ www.youtube.com

การเติบโตของเว็บท้องถิ่น

เว็บไซต์ท้องถิ่นของท่าน นอกจากขายพื้นที่โฆษณาแล้ว ท่านยังสามารถแตกไลน์ธุรกิจออกไปได้อีกหลายอย่าง เสมือนท่านมีสื่อชนิดหนึ่งอยู่ในมือ ท่านอาจรับจ้างทำเว็บให้สถานประกอบการต่างๆ หากลงข้อมูลในเว็บฟรีก็มีข้อมูลจำกัด หากต้องการรายละเอียดมากขึ้นก็มีค่าใช้จ่ายตามที่ตกลงกัน

ปัจจุบันแนวโน้มของธุรกิจเน้นกลุ่มเป้าหมายที่ แคบ แต่ ลึก ขึ้น สินค้าและบริการที่ออกแบบมาอย่างเฉพาะเจาะจงลงตัวกับลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เว็บท้องถิ่นจะตอบสนองกับธุรกิจที่มีลูกค้าอยู่ในท้องถิ่นนั้น เมื่อเว็บลักษณะนี้มีมากยิ่งขึ้นและเชื่อมโยงกัน เราก็จะได้ข้อมูลธุรกิจท้องถิ่นที่เล่าเรื่องโดยคนท้องที่

ใครจะรู้จัก บ้าน ของเขา เท่าเจ้าของบ้านเอง .