การเลือกตั้งที่ผ่านมาสิ่งหนึ่งที่ดำเนินการควบคู่กับการหาเสียงของพรรคการเมืองคือ ผลการสำรวจความคิดเห็นของสำนักต่างๆ ทั้ง เอแบคโพลล์ สวนดุสิตโพลล์ พบว่าผลการสำรวจเป็นไปตามที่โพลล์ทำนายไว้คือพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส. มากที่สุด
ประโยชน์ของการทำโพลล์ คือเป็นการเช็คกระแสความรู้สึก ความต้องการของสังคมว่าช่วงเวลานั้นกลุ่มเป้าหมายคิดหรือรู้สึกอย่างไร โพลล์ใช้ทำนายผลลัพท์ล่วงหน้า ผลที่ได้สามารถนำไปปรับใช้ในการดำเนินกลยุทธ์ต่างๆได้มากมายทั้ง เรื่องการเมือง สังคม และธุรกิจ
พบว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อการหาเสียงอย่างมากมาย และในทุกช่องทาง ทั้งสองพรรคการเมืองใหญ่ลงโฆษณาออนไลน์ทั้งกูเกิ้ล เฟสบุ๊ค มีการถ่ายทอดสดการปราศรัยทางอินเตอร์เน็ต นำภาพกิจกรรมหาเสียงในที่ต่างๆอัพโหลดขึ้นเว็บทุกวัน ดึงแฟนคลับเข้ามามีส่วนร่วมถล่มทลาย
ปัจจุบันประชากรบนโลกออนไลน์เป็นสิ่งที่ไม่มีใครมองข้ามอีกแล้ว เพราะนับวันมันยิ่งเติบโต หลายสิ่งที่เกิดขึ้นในไซเบอร์สเปซกลายเป็นกระแสนิยม เช่น เรื่องแพลงกิ้ง(ทำท่าคนตายนอนคว่ำตัวแข็ง)ที่คุณชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์นำไปเล่นตอนหาเสียง ทำให้ “ได้ใจ”แล้วคงได้คะแนนเสียงจากวัยรุ่นไปไม่น้อย
คุยกันเล่นๆว่ากลยุทธ์เหล่านี้หากใช้กับธุรกิจ มันคงสร้างยอดขายหรือเสียงตอบรับให้กับเจ้าของกิจการอย่างมากมายภายในระยะเวลาแค่เดือนเศษเท่านั้น
มาถึงเรื่องการใช้โพลล์ในเชิงธุรกิจ เมื่อต้องการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งใช้เงินลงทุนมหาศาล เพื่อป้องกันการผิดพลาด อาจเริ่มต้นที่การสำรวจความคิดเห็นก่อน เช่นเรื่องความพึงพอใจในรูปลักษณ์ สี กลิ่น รส สัมผัส หรือเรื่องราคาที่เหมาะสม เป็นต้น
ตัวอย่างเพื่อนของผมกำลังอยากจะทำร้านอาหาร ผมแนะนำว่าให้สำรวจข้อมูล ความต้องการของคนในย่านนั้นก่อน เริ่มง่ายๆเช่นสำรวจร้านอาหารคู่แข่งในย่านเดียวกัน คนแถวนั้นเป็นใคร ทำงานอะไร รายได้เท่าไร่ การศึกษาชั้นไหน รสนิยมเป็นอย่างไรเป็นต้น
ข้อมูลเหล่านี้หากทำอย่างง่ายๆได้แก่การออกไปสอบถามพูดคุยด้วยตนเอง หากต้องการข้อมูลลึกๆปริมาณมาก และรอบด้าน ก็คงต้องจ้างบริษัทที่ทำวิจัยการตลาด ซึ่งส่วนใหญ่จะเก็บข้อมูลจากผู้ให้สัมภาษณ์เป็นหลักพันคนขึ้นไป
ความแม่นยำของโพลล์หรือผลการสำรวจความคิดเห็น วัดได้จากผู้ที่ทำโพลล์ว่ามีปริมาณมากพอ และเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการหรือไม่ ถ้าคุณสมบัติผู้ตอบโพลล์ตรงกับกลุ่มเป้าหมายและมีปริมาณมากพอ ผลของโพลล์นั้นก็จะมีความแม่นยำสูง
สำหรับเจ้าของกิจการขนาดเล็กที่ยังไม่มีทุนทรัพย์มากพออาจทำโพลล์ออนไลน์ทางเฟสบุ๊คได้ โดยใช้แอพพลิเคชั่น poll โดยพิมพ์คำว่า poll ในช่องค้นหา แล้วกดปุ่มอนุญาตให้แอพนี้เข้าถึงข้อมูลส่วนตัว จากนั้นคุณก็สามารถทำโพลล์ขึ้นมาเองได้
สร้างคำถาม แล้วสร้างคำตอบ เป็นช้อยส์ให้เลือก จากนั้นก็เผยแพร่ในเฟสบุ๊ค ให้เพื่อนๆช่วยกันแสดงความคิดเห็น ท่านก็จะได้ข้อมูลชุดหนึ่งสำหรับการดำเนินธุรกิจต่อไป โพลล์ที่ทำที่นี่สามารถแสดงความคิดเห็นต่อท้ายได้ ทำให้ได้ข้อมูลที่ละเอียดยิ่งขึ้น
ท่านอาจสร้างแรงจูงใจในการทำโพลล์ด้วยการให้รางวัล ถ้าของรางวัลมีเยอะก็ให้กับทุกคนที่ตอบโพลล์ แต่ถ้าของรางวัลน้อยมีมูลค่าสูงก็อาจจะเป็นการสุ่มให้รางวัลก็ได้
หากต้องการคำถามเชิงลึกหลายๆข้อ ท่านอาจสร้างแบบสอบถามที่ กูเกิ้ลด็อคhttps://docs.google.com แล้วเลือกสร้าง Form ระบุคำถามและคำตอบต่างๆ โดยทำได้หลายข้อ ก่อนที่จะส่งแบบฟอร์มนี้ไปให้เพื่อนๆตอบ
ช่วงนี้ทางกูเกิ้ลมีความเคลื่อนไหวต่างๆที่น่าสนใจ เช่น การที่จะเปิดตัว กูเกิ้ลพลัส https://plus.google.com เครือข่ายสังคมออนไลน์ออกมาแข่งกับ Facebook กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ โปรดรอด้วยความระทึก
ข่าวดีสำหรับ SMEs ไทยก็คือ กูเกิ้ล ร่วมกับ สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย, สสว, Webiz, Dotarai ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยนำธุรกิจของตนเองเข้าสู่โลกอินเตอร์เน็ต กับ www.goonline.in.th
โดยท่านสามารถสร้างเว็บไซต์ฟรีที่นี่ ใช้โดเมนฟรี 1 ปี(เว็บนามสกุล .in.th และ .co.th) โปรโมทธุรกิจใน Google Maps และมีเครดิตให้ลองโฆษณาในกูเกิ้ลฟรีมูลค่า 3,000 บาท พร้อมอบรมสอนการใช้งานให้ฟรีอีกต่างหาก มีศูนย์ประสานงานในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ สนใจโทร 02 257 7299
เว็บที่สร้างขึ้นที่นี่ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน เรียนรู้และปรับแต่งได้ด้วยตนเอง ตัวอย่างเว็บ www.anyroom.in.th ร้านเฟอร์นิเจอร์มีดีไซน์ บนสยามดิสคัฟเวอรี่ ของคุณ
นับว่ากูเกิ้ลทุ่มทุนสร้างเป็นอย่างมาก เจ้าของกิจการทั้งหลายไม่ควรพลาด หลังจากเสียส่วนแบ่งการตลาดด้านโฆษณาออนไลน์ให้กับเฟสบุ๊ค นี่คงเป็นอีกความพยายามหนึ่งของกูเกิ้ลที่จะดึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆเข้ามาใช้บริการ เพื่อเป็นลูกค้าต่อไป
หวังว่าเรื่องโพลล์ออนไลน์ และเว็บไซต์ฟรีค่ายกูเกิ้ลที่แนะนำในครั้งนี้ คงเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจทำธุรกิจในโลกออนไลน์ทุกท่าน พบกันใหม่ฉบับหน้าครับ