8 กรกฎาคม 2554

E-book ช่องทางสร้างรายได้ ของนัก(อยาก)เขียน

ช่วงนี้ผมมีเหตุให้ต้องติดตามข่าวสารบ้านเมืองอย่างใกล้ชิด จึงต้องเปิดเว็บข่าวของสำนักต่างๆอ่านถี่ยิบทั้งเช้าค่ำ พบว่าข่าวจากเว็บสื่อสิ่งพิมพ์จะให้ข้อมูลอย่างย่อและจำกัด อ่านแล้วไม่จุใจจึงมีความคิดจะสมัครซื้อหนังสือพิมพ์ออนไลน์มาอ่าน เพราะแผงหนังสือแถวบ้านผมที่ต่างจังหวัดหาซื้อหนังสือแนวนี้ยากมาก

ตอนที่แล้วคอลัมน์นี้บอกว่ายอดขายอีบุ๊คของเว็บอเมซอนแซงหน้าหนังสือกระดาษจริงๆไปแล้ว แนวโน้มของธุรกิจหนังสือที่ไหนๆก็คงเป็นเช่นนี้ คนอ่านหนังสือจากอินเตอร์เน็ตมากขึ้น ทั้งจากจอคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์สื่อสารอื่น เพราะมันสะดวกง่ายดายไม่ต้องถือหนังสือหนักๆหลายๆเล่มไปไหนมาไหน

นิตยสารและหนังสือพิมพ์ดังๆกำลังปรับตัวเข้าสู่อีบุ๊ค ข้อดีของสำนักพิมพ์คือไม่ต้องลงทุนพิมพ์หนังสือออกมาเป็นเล่มๆ ไม่มีปัญหาเรื่องการกระจายสินค้าหรือการจัดจำหน่าย แต่สามารถขายให้กับลูกค้าที่ต้องการอ่านหนังสือดาวน์โหลดไปอ่านได้จากทุกที่ทั่วโลก

ขณะนี้มีนักเขียนออนไลน์แจ้งเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เคยได้ยินว่าวัยรุ่นญี่ปุ่นชอบอ่านนิยายที่ดาวน์โหลดจากอินเตอร์เน็ต ส่งผลให้นักเขียนออนไลน์ญี่ปุ่นล่ำซำกันทั่วหน้า ผลิตงานกันแทบไม่ทัน เพราะได้ค่าลิขสิทธิ์เป็นกอบเป็นกำจากการดาวน์โหลด

เรื่องแบบนี้มีคนมาปรึกษาผมหลายคน ทำนองว่าเขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งจะจัดพิมพ์ หรือเสนอสำนักพิมพ์ยังไง คำแนะนำของผมคือเสนอให้สำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือแนวเดียวกับที่เราเขียนพิจารณา แล้วรอคำตอบ ถ้าได้พิมพ์ก็รอรับตังค์ ถ้าไม่ได้พิมพ์ก็เสนอที่อื่นต่อไป

ถ้าหากมีทุนรอนพิมพ์หนังสือเองก็พิมพ์มันขึ้นมาเลยครับ หาคนมาจัดอาร์ตเวิร์ค ทำปกสวยๆ หาโรงพิมพ์ ทำออกมาเป็นเล่มแล้วจึงติดต่อบริษัทจัดจำหน่าย รายใหญ่ๆของบ้านเราก็ได้แก่ซีเอ็ด อัมรินทร์ หรือจะใช้บริการเครือมติชนก็มี บริษัทงานดี จำกัดนั่นเอง

การพิมพ์หนังสือ 1 เล่มท่านอาจจะใช้เงินหลักหมื่นไปจนถึงหลักแสน เพราะต้นทุนค่ากระดาษมีราคาสูงมาก ถ้าพิมพ์จำนวนน้อยต้นทุนต่อเล่มก็จะสูง พิมพ์มากถึงต้นทุนต่อเล่มถูก แต่ก็ต้องใช้เงินลงทุนสูง เช่นพิมพ์ 1,000 เล่ม อาจจะเล่มละ 50 บาท ใช้เงินทั้งหมด 50,000 บาท แต่ถ้าพิมพ์ 3,000 เล่มถึงจะเล่มละ 30 บาท แต่ใช้เงิน 90,000 บาท

แต่ความจริงท่านสามารถลองตลาดผลงานเขียนของท่านด้วยการทำเป็น ebook ให้คนลองดาวน์โหลดไปอ่านดูก่อนได้ อาจจะทำสัก 1-2 บท ถ้าได้รับความนิยม จึงค่อยทำเป็น ebook ฉบับเต็มวางขายเสียเลย

ต้นทุนการทำ ebook แทบไม่ต้องใช้เงินเลย หรืออย่างมากก็หลักพันบาท มันจึงเป็นเหตุผลให้ ebook ถูกกว่าหนังสือที่เป็นกระดาษจริงๆ กว่าครึ่ง คนอ่านได้อ่านหนังสือราคาถูก ผู้ผลิตก็ไม่ต้องลงทุนเยอะวินๆกันทั้ง 2 ฝ่าย

ท่านสามารถสร้าง ebook ได้ที่ www.ilovelibrary.com มีโปรแกรมสำหรับสร้าง ebook ให้ใช้งานฟรี สำหรับ ebook ที่ให้ดาวน์โหลดอ่านฟรี แต่ถ้าจะทำอีบุ๊คขายก็จะต้องซื้อโปรแกรมอีกแบบหนึ่งค่าใช้จ่ายไม่มากอย่างที่ว่า ลองโทรไปปรึกษาเขาดูครับ ข้อดีของอีบุ๊คที่สร้างขึ้นที่นี่คือจะมีการพลิกหน้าอ่านได้ให้ความรู้สึกเหมือนหนังสือจริงๆ

ท่านสามารถสร้าง ebook ที่อ่านได้ด้วย iPad สมาร์ตโฟน หรือ อุปกรณ์สื่อสารอื่นได้ที่ www.ebooks.in.th มี ebook ทั้งแบบอ่านฟรี และเสียเงินซื้อ อีบุ๊คของที่นี่ไม่ต้องใช้โปรแกรมการสร้างที่ซับซ้อนเพราะเป็นไฟล์นามสกุล pdf ท่านสามารถเปลี่ยนไฟล์เป็นนามสกุล pdf ได้ที่ www.primopdf.com

เมื่อท่านสร้าง ebook ได้ชำนาญแล้ว ท่านอาจจะรับจ้างสร้าง ebook ได้ค่าแรงเป็นเล่มๆ หรือตั้งตนเป็นสำนักพิมพ์ที่ทำ ebook ขายเลยก็ได้ ถ้าท่านมีเว็บของตนเองอยู่แล้ว ท่านสามารถนำโค้ดจากเว็บ ebook ทั้ง 2 แห่งข้างต้น ไปติดที่เว็บไซต์เพื่อเชื่อมโยงมายังอีบุ๊คของท่าน

แต่ต้องยอมรับก่อนว่ากระแสอีบุ๊คสำหรับประเทศไทยยังไม่แรงนัก คนทั่วไปนิยมอ่านฟรี แต่ถ้าให้เสียเงินซื้ออาจจะลำบากสักหน่อย อาจจะต้องใช้เวลาอีกสักเล็กน้อย แต่ถ้า ebook ของท่านเป็นเรื่องเฉพาะที่หาอ่านทั่วไปไม่ได้ง่ายๆ และคนต้องการรู้ ก็น่าจะขายได้ดี

คนชอบเขียนหนังสืออาจจะมีรายได้อีกทางจากการเขียนบล็อกที่ www.blogger.com แล้วนำโฆษณาของกูเกิ้ลมาติด แล้วจะมีได้รายได้จากคนที่เข้ามาอ่านบล็อกแล้วคลิกโฆษณา โดยสมัครเอาโฆษณาของกูเกิ้ลมาติดได้ที่ http://google.com/adsense

ตัวอย่างของบล็อกแบบนี้คือ http://athichen.blogspot.com บล็อก เรื่องประกอบ รวบรวมบทกวีและนิทานของผู้ใช้นามปากกาว่า อาทิเช่น

อาชีพนักเขียนเป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้ยากในประเทศไทยเพราะผลตอบแทนน้อย ถ้าผลงานไม่ได้ตีพิมพ์ก็ขาดรายได้ แต่โลกออนไลน์เปิดโอกาสให้กับนักเขียนได้แสดงฝีมือ เผยแพร่ผลงาน และมีโอกาสมีรายได้อีกทางหนึ่งได้อีกด้วย

แม้ว่าช่วงต้นอาจจะยังได้ไม่มากมายนัก แต่ก็ทำให้การเดินทางบนถนนนักเขียนไม่เดียวดาย และแร้นแค้นเกินไปนัก.

3 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณสำหรับข้อมูลที่ีประโยชน์นี้มากๆคะ

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณค่ะสำหรับบทความและแง่คิดดีๆ

    ตอบลบ