สารานุกรมเสรี “วิกิพีเดีย” อธิบายว่า “เว็บไซต์ที่ออกแบบโดยใช้หลักการของเว็บ 2.0 ทำให้กลุ่มผู้ใช้งานสามารถปฏิสัมพันธ์และร่วมมือกันในลักษณะของสื่อสังคมออนไลน์ โดยกลุ่มผู้ใช้งานเป็นผู้สร้างเนื้อหาขึ้นเอง ต่างจาก เว็บ 1.0 ที่กลุ่มผู้ใช้ถูกจำกัดบทบาทโดยทำได้แค่เพียงการเยี่ยมชม หรือดูเนื้อหาที่ผู้ใช้สนใจ...”
ตัวอย่างเว็บที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งหลายล้วนดำเนินการตามแนวทางนี้ เช่น เว็บวิกิพีเดีย www.wikipedia.org ที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปช่วยกันเขียนสารานุกรมออนไลน์ขึ้นมา บล็อกต่างๆที่ให้ผู้เข้าชมแสดงความเห็นกับเนื้อหาของบล็อกได้ หรือเฟสบุ๊คที่เปิดโอกาสให้ทุกคนแบ่งปันเรื่องราว รูปถ่ายและคลิปวีดีโอ ให้แก่กันและกัน เป็นต้น
เมื่อเร็วๆนี้มีรายงานว่าผู้ใช้เฟสบุ๊คประเทศไทยขยับขึ้นไปอยู่ที่ 10 ล้านคนแล้ว เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ 2-3 เดือนมานี้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละเกือบแสนคน แสดงให้เห็นว่า เฟสบุ๊คเริ่มมีอิทธิพลกับชีวิตคนไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้วัยรุ่นและวัยทำงาน อาจจะคุยกันผ่านช่องทางนี้มากกว่าคุยกันจริงๆเสียอีก
สำหรับผม เพื่อนสมัยประถม มัธยม ที่จากกันไป ไม่ได้เจอกันนาน ถูกเฟสบุ๊คขุดค้นมาให้เจอ เกือบจะหมดแล้ว มันเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นดีอยู่เหมือนกันที่ได้รับรู้ข่าวคราวของเพื่อนเก่า ว่าใครทำอะไร เป็นอย่างไร อยู่ที่ไหน บ้างก็อยู่ต่างจังหวัด บ้างก็อยู่ต่างประเทศ ปะเหมาะเจอกันจังๆที่เฟสบุ๊คก็แชตกันสดๆเป็นชั่วโมงให้หายคิดถึง
ปัจจัยที่ทำให้เครือข่ายสังคมออนไลน์แห่งนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นผลมาจากช่องทางการเข้าสู่อินเตอร์เน็ตมีเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตยี่ห้อต่างๆ ขนาดจอดรถติดไฟแดงยังคุยกันผ่านทวิตเตอร์และเฟสบุ๊คได้ อะไรจะขนาดนั้น ไปไหนมาไหนเห็นเด็กวัยรุ่นจ้องโทรศัพท์มือถือจิ้มนิ้วกันวุ่นวาย
จากผลการวิจัยพบว่าเรื่องต่างๆที่เพื่อนแนะนำให้เพื่อน มีโอกาสสูงที่จะได้รับการตอบรับมากกว่าปฏิเสธ จึงไม่น่าแปลกใจที่เว็บทั้งหลายต่างก็เพิ่มปุ่ม “แบ่งปัน” ให้เพื่อนทั้งบนเฟสบุ๊คและทวิตเตอร์ สินค้าและบริการต่างๆเริ่มตบเท้าเข้ามาใช้บริการโฆษณาบนเฟสบุ๊ค จนค่าโฆษณาที่เว็บแห่งนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ลองมาดูตัวอย่างของเว็บชั้นนำในประเทศไทยที่ใช้ประโยชน์ของเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างทวิตเตอร์และเฟสบุ๊ค เว็บหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ www.bangkokbiznews.com สื่อแห่งนี้ส่งเสริมให้นักข่าวใช้ทวิตเตอร์รายงานข่าว จากนั้นก็นำมารีทวิตบนหน้าเว็บให้คนทั่วไปอ่าน นับว่าเป็นการรายงานข่าวอย่างฉับไวทันใจยิ่ง
เว็บหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ www.posttoday.com มีส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการรายงานสภาพการจราจรในกรุงเทพ ให้คนทั่วไปแชร์ต่อทางเฟสบุ๊คหรือทวิตเตอร์ได้ เว็บทั้งสองแห่งข้างต้นยังมีการทำแบบสอบถามหรือโพลล์ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ แล้วคลิกดูผลโพลล์ได้ทันที
สำหรับเว็บมติชน www.matichon.co.th มีการนำเวทีแสดงความคิดเห็นหัวข้อต่างๆ มาไว้ที่หน้าแรก หลายความคิดเห็นสร้างสรรค์ น่าสนใจมากทีเดียว ผู้อ่านมีส่วนร่วม และเนื้อหาเว็บก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เป็นวิธีการเดียวกับเว็บที่มีผู้เข้าชมเป็นหลักแสนอย่าง www.sanook.com และ www.mthai.com ทำงานอยู่
ลองเข้ามาดูเว็บที่ต้องอัพเดทข้อมูลข่าวสารแบบชั่วโมงต่อชั่วโมงอย่างเว็บราคายาง http://rakayang.net นอกจากเจ้าของเว็บจะนำข่าวสารต่างๆที่เกี่ยวข้องกับยางพาราขึ้นที่หน้าแรกแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมเว็บแชตกันสดๆ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร คนที่ไม่เกี่ยวข้อง แต่สนใจเรื่องดังกล่าวก็ได้อ่านกันเพลินๆ
วิธีการเชตกันสดๆมีหลายธุรกิจ เช่น อีเบย์และทรูนำไปใช้ในลักษณะคล้ายๆ
ถ้าต้องการให้ดูเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้นอาจใช้บริการที่ www.thailivechat.com มีทั้งแบบให้ใช้บริการฟรี และเสียเงินเดือนละ 400 บาท แน่นอนว่าอย่างหลังก็จะทำงานได้มากกว่า โปรแกรมนี้เป็นเจ้าของเดียวกับสถาบัน Netdesign
ปกติองค์กร บริษัท ห้างร้าน นอกจากจะมีเว็บของตนเองแล้วยังมีเฟสบุ๊คเพื่อสื่อสารอย่าง
ฉับไว และไม่เป็นทางการอีกด้วย ท่านสามารถเชื่อมเว็บองค์กรและเฟสบุ๊คเข้าด้วยกัน โดยเข้าไปที่ http://th-th.facebook.com/badges ลงทะเบียนเฟสบุ๊คแล้วนำ แล้วเลือกโค้ตจากที่นี่ไปติดที่เว็บหรือบล็อกของตนเอง
เมื่อท่านเขียนสิ่งต่างๆบนเฟสบุ๊ค สิ่งเหล่านั้นมันก็จะไปโชว์ที่เว็บของท่านด้วย ทำให้เว็บของท่านมีความเคลื่อนไหว ไม่น่าเบื่อและเป็นช่องทางให้ลูกค้าของท่านติดต่อท่านได้อีกทางหนึ่ง มีคำถาม ข้อสงสัย หรือสนใจเรื่องใดก็โพสต์ไว้ที่เฟสบุ๊คของท่านได้เลย
การทำให้เว็บไซต์ขององค์กรบริษัทของท่านปรับเปลี่ยนเป็นเว็บ 2.0 ด้วยการเพิ่มส่วนต่างๆให้ผู้เข้าชมเว็บได้มีส่วนร่วม อาทิ แชตคุยกันได้ หรือแสดงความเห็นบนเนื้อหา หรือกด Like ผ่านเฟสบุ๊คได้ ทำให้เว็บไม่จืดชืด ตื่นตาตื่นใจ และผู้เข้าชมเว็บรู้สึกผูกพัน อยากเข้ามาเชี่ยมชมเว็บในครั้งต่อไปอีกเรื่อยๆ
แล้ว(คง)ไม่นานผู้เข้าชมเว็บเหล่านี้ ก็จะกลายเป็นลูกค้าที่จงรักภักดีต่อท่านในท้ายที่สุด.