17 ตุลาคม 2554

เว็บเฉพาะกิจ


ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาข่าวน้ำท่วมยึดครองพื้นที่ของสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออื่นๆ จนถึงขณะนี้ความเดือดร้อนก็คงยังไม่หมดสิ้นไป หลายชีวิตยังต้องการการเยียวยาช่วยเหลือ  ใครพอมีกำลังก็บริจาคทรัพย์สิน สิ่งของ บ้างก็ช่วยบริจาคแรงงาน คนละไม้คนละมือ คนเราจะเห็นใจกันก็ยามยากนี่แหละ
สิ่งที่มาพร้อมๆกับภัยธรรมชาติครั้งนี้คือน้ำใจของคนไทยที่แสดงออกมาให้เห็นอย่างท่วมท้น ในโลกออนไลน์มีการทวีตเตอร์รายงานน้ำท่วมและแจ้งข่าวการให้ความช่วยเหลืออย่างคึกคัก เช่น สถานีข่าวระวังภัย @Rawangpai , ศูนย์ข้อมูลช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม@thaiflood ,กรมชลประทาน @PR_RID เป็นต้น
บนเฟสบุ๊คเกิดเพจรายงานสถานการณ์น้ำท่วมมากมาย ทั้งระดับประเทศ และระดับจังหวัด เช่น www.facebook.com/flood54 น้ำท่วม 54 เกาะติดสถานการณ์และการบริจาค , www.facebook.com/room2680 น้ำท่วมให้รีบบอก , www.facebook.com/k.sharing พระจอมเกล้าลาดกระบัง ปันน้ำใจช่วยภัยน้ำท่วม
            เว็บไซต์เฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นมาเพื่อการนี้ก็ทำหน้าที่ได้อย่างแข็งขัน เช่น www.truelife.com/helptogether/flood ของค่ายทรู มีรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในแง่มุมต่างๆอย่างใกล้ชิด เชื่อมต่อไปยังเว็บช่วยเหลือน้ำท่วมที่เกี่ยวข้อง สามารถรายงานข่าวน้ำท่วมด้วย MMS และ SMS สำหรับเบอร์โทรศัพท์มือถือค่ายทรู ไม่เสียค่าใช้จ่าย
            สำนักการระบายน้ำ http://dds.bangkok.go.th/Floodmon มีระบบตรวจวัดน้ำท่วมบนถนนสายต่างๆในกรุงเทพ ทั้งแผนที่ รูปถ่าย และกราฟ นับว่าทันสมัย ละเอียดลออดีทีเดียว คงจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่อยู่ในกรุงเทพเป็นอย่างยิ่ง
            ชีวิตไม่สิ้นก็ต้องดิ้นกันไป น้ำท่วมครั้งนี้ทำให้แหล่งทำมาหากินของหลายๆท่านได้รับความเสียหาย บ้างก็ขาดทุนจนหมดเนื้อหมดตัว จะอย่างไรก็ตามขอให้ท่านอย่าหมดกำลังใจในการสู้ชีวิต จงเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส โอกาสในการเริ่มต้นทำในสิ่งใหม่ๆ ใครจะไปรู้ว่านี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่ของท่านก็ได้
เดือนตุลาคมปี 2554 นอกจากจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ในไทยแล้ว ยังเป็นเดือนที่สตีฟ จ็อบส์เจ้าของแอปเปิลคอมพิวเตอร์เสียชีวิตด้วย ผลงาน iPhone ,iPad ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างท่วมท้นในขณะนี้ฝีมือเขาล่ะ ตอนที่ iPad ออกมาใหม่ๆ ผมยังคิดว่าใครจะไปซื้อ คอมพิวเตอร์อะไร คีย์บอร์ดก็ไม่มี เมาส์ก็ไม่มี เอาเงินเท่าๆกันนี้ไปซื้อโน้ตบุ๊คดีกว่า
กลายเป็นว่า iPad จุดกระแสความนิยมเรื่องแทปเล็ตให้ใช้กันอย่างแพร่หลาย จนกระทั่งบริษัทคอมพิวเตอร์อีกหลายแห่งแห่ผลิตแทปเล็ตตามกันเป็นแถว สตีฟ จ็อบส์เคยกล่าวทำนองว่าเขาไม่ใช่ผู้ผลิตสินค้าสนองความต้องการของตลาด แต่เป็นผู้สร้างความต้องการนั้นขึ้นมาเอง ฉะนั้นไม่น่าแปลกใจเลยในความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของเขา
สตีฟ จ็อบส์มีวิกฤติใหญ่ๆในชีวิต 3 ครั้ง ครั้งแรกคือเรื่องต้องออกจากมหาวิทยาลัย เพราะมีปัญหาเรื่องค่าเล่าเรียน เรื่องนี้ทำให้เขาได้เลือกเรียนวิชาที่เขาสนใจจริงๆ(แบบไม่เสียเงิน) เช่นการประดิษฐ์ตัวอักษร ต่อมามันเป็นความรู้สำคัญที่ใส่ลงไปในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เขาผลิตขึ้น
วิกฤติครั้งที่สองคือเขาถูกออกจากบริษัทที่เขาก่อตั้งขึ้นมาเอง ตอนนั้นเขารู้สึกแย่มาก แต่ต่อมาเขาก็ไปตั้งบริษัทพิกซาร์ ผู้สร้างการ์ตูนแอนนิเมชั่น ทอย สตอรี่ ก่อนที่บริษัทวอลต์ดิสนี่ย์จะซื้อกิจการไป ช่วงเวลานี้เองที่เขาได้พบรักและแต่งงานกับภรรยาของเขา
วิกฤติครั้งสุดท้ายคือเขาเป็นมะเร็งตับอ่อน ทำให้เขาใช้ชีวิตทุกวันอย่างคุ้มค่าเหมือนว่าเป็นวันสุดท้ายของชีวิต แม้จะรักษาหายมาแล้วครั้งหนึ่งแต่ก็กลับไปเป็นซ้ำอีกครั้ง จนกระทั่งเสียชีวิตไปในที่สุด
น้ำท่วมครั้งนี้หลายโรงงานจมน้ำเสียหาย หนึ่งในนั้นคือโรงงานมูลค่า 3,000 ล้านของคุณตัน ภาสกรนที เขาถึงกับร่ำไห้ต่อสาธารณะ เป็นความเสียหายที่หนักหนาสาหัส แต่ผมเชื่อว่าคุณตันจะฟื้นตัวกลับมาได้ใหม่ในไม่ช้า
ทุกสิ่งคือมายา โลกนี้คือละคร ชีวิตคนบางครั้งเหมือนนิยาย ก่อนจบคอลัมน์นี้ของเล่าชีวิตของคนๆหนึ่งที่เริ่มต้นจากศูนย์ เพื่อเป็นกำลังใจให้กับทุกท่าน ชายคนนี้เรียนจบเพียง ป.4 เกิดในครอบครัวชาวนาที่จังหวัดร้อยเอ็ด เข้ากรุงเทพมาทำงานโรงงานตั้งแต่อายุ 12 หลังเกณฑ์ทหาร แต่งงานมีครอบครัว ยึดอาชีพทำนา ก่อนจะย้ายเข้ากรุงเทพอีกครั้งเพื่อรับจ้างขายไอศกรีม
ต่อมาน้องชายที่ส่งลูกชิ้นให้ร้านอาหารแนะนำให้ขายก๋วยเตี๋ยว จึงลองทำดู ขายได้สักพักพบว่าเส้นบะหมี่ไม่มีคุณภาพ จึงคิดอยากผลิตเอง จึงศึกษาแล้วลองทำจนถูกใจ เริ่มจากทำขายเองในร้านเพื่อลดต้นทุน ประสบความสำเร็จ จนเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นอยากขายบะหมี่บ้างจึงแตกสาขาออกไปเรื่อยๆ ปัจจุบันมี 2,000 กว่าสาขา
นั่นคือเรื่องราวของ พันธ์รบ กำลาเจ้าตำรับ "ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว" เถ้าแก่ร้อยร้าน ผู้ที่ความคิดไม่เคยหยุดนิ่ง นอกจากทำแฟรนไชส์บะหมี่แล้วยังแตกไลน์เป็น หญิงห้าข้าวหน้าเป็ด และกำลังทำ ร้านอาหารทันสมัยชื่อ พ่อชายสี่ หมี่&สเต็ก แถวปทุมธานี ลองเข้าไปอ่านเรื่องราวของเขาได้ที่ www.chay4.co.th
จากเรื่องน้ำท่วมไปถึงเจ้าพ่อไอที จบลงที่แฟรนไชส์บะหมี่ข้างถนน ทั้งหมดนี้เพื่อจะบอกกับคุณว่า คนที่ประสบความสำเร็จไม่ใช่ว่าจะล้มไม่เป็น แต่ทุกครั้งที่ล้มเขาลุกขึ้นมาได้ใหม่เสมอ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปได้ครับ.


6 ตุลาคม 2554

ธุรกิจในช่วงวิกฤติ



ดูข่าวสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่แล้วน่าเห็นใจผู้ประสบภัยเป็นอย่างยิ่ง ข้าวของเสียหาย ธุรกิจย่อยยับ หลายท่านต้องสูญเสียเพื่อนฝูงญาติพี่น้องไปกับอุทกภัยในครั้งนี้ แต่คนไทยไม่ทิ้งกับอยู่แล้ว ใครช่วยเหลือสิ่งใดได้ก็ช่วยกันหน่อยนะครับ ข้าวของเงินทองบริจาคช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน คนเราจะเห็นใจกันก็ยามยากนี่แหละ
            สำหรับบ้านใครที่ยังไม่อยู่ในเขตภัยพิบัติในครั้งนี้ก็อย่านิ่งนอนใจ ติดตามข่าวสารตามสื่อต่างๆเพื่อคอยระวังและรับมือให้ดี พื้นที่ที่ไม่เคยท่วมก็ท่วมมาให้เห็นแล้ว ประมาทไม่ได้ป้องกันไว้ดีกว่าแก้ไข ท่านสามารถติดตามข่าวสารทางอินเตอร์เน็ตได้ที่ www.thaiflood.com ดูแล้วน่าตกใจ เพราะถึงวันนี้(5 ต.ค.54) มีผู้เสียชีวิต 237 ราย สูญหาย 3 ราย เดือดร้อน 8 ล้านคนแล้ว
            เว็บข่าวของทางโทรทัศน์ช่องต่างๆ ก็มีรายงานเรื่องน้ำท่วมอย่างคึกคัก เช่นช่อง 9 www.mcot.net หรือ ช่อง 7 ที่ www.ch7.com หากต้องการทราบข้อมูลอย่างใกล้ชิดในพื้นที่ของท่าน อาจติดตามได้จากเว็บรายการโทรทัศน์ในท้องถิ่น เช่นที่นครราชสีมามีเคเบิ้ลทีวียอดนิยมชื่อ KcTV เว็บของช่องนี้คือ www.kctv.co.th
            หากท่านไม่รู้ว่าจะรับมือกับน้ำท่วมอย่างไร สามารถดาวน์โหลดคู่มือน้ำท่วม ได้ที่www.softbizplus.com/general/533-floods-handbook มีทั้งการเตรียมตัวก่อนน้ำท่วม ระหว่างน้ำท่วม และหลังน้ำท่วม ขณะนี้ทางราชการมีเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยครัวเรือนละ 5,000 บาทด้วย อ่านเงื่อนไขได้ที่เว็บกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย www.disaster.go.th
            น้ำท่วมครั้งนี้หลายพื้นที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน หลายคนรับมือไม่ทัน ทำให้คิดว่าหากมีการรายงานสถานการณ์น้ำท่วมสดๆแบบรายงานสถานการณ์จราจรก็คงจะดีไม่น้อย เมื่อเร็วๆนี้ผมอ่านข่าวพบว่าแอพลิเคชั่นที่มีการดาว์นโหลดใช้งานมากที่สุดสำหรับสมาร์ทโฟนและแท็ปเล็ตได้แก่ กูเกิ้ลแผนที่ http://maps.google.co.th เพราะใช้ดูสภาพการจราจรแบบเรียลไทม์ได้
            มันเป็นความสามารถที่ยอดเยี่ยมมาก ผู้ที่ใช้รถสามารถตรวจดูเส้นทางต่างๆด้วยตัวเองทันที ไม่ต้องรอรายงานจากทางวิทยุหรือโทรทัศน์ ซึ่งไม่รู้ว่าผู้สื่อข่าวจะรายงานเส้นทางที่เราสัญจรเมื่อไหร่ หากเส้นทางไหนสีแดงก็ให้หลีกเลี่ยง ไปในเส้นทางที่ขึ้นสีเขียว ขณะนี้รายงานได้เพียงเส้นทางหลักๆ ตามตรอกซอกซอยในกรุงเทพยังไม่แสดงผล
            สำหรับเรื่องสภาพอากาศกูเกิ้ลแผนที่สามารถแสดงผลอย่างคร่าวๆ เพียงว่าอุณหภูมิกี่องศา มีฝนตก แดดออกหรือไม่ หากมันสามารถแสดงผลได้ว่าพื้นที่ไหนน้ำท่วมระดับไหนแล้ว ก็จะดีไม่น้อย พื้นที่ใกล้เคียงหรือผู้ที่ต้องสัญจรไปละแวกนั้นจะได้เตรียมรับมือได้ ฝากเรื่องนี้ถึงกูเกิ้ลประเทศไทยด้วยนะครับ
            น้ำท่วมอาจทำให้หลายธุรกิจย่อยยับ แต่ก็ทำให้หลายธุรกิจรุ่งเรืองขึ้นมา เช่น ธุรกิจขายกระสอบทรายกั้นน้ำ และเรือพลาสติก ลองดูคลิปข่าวนี้ http://tinyurl.com/3b5kx6a ปีที่แล้วน้ำท่วมโคราชเรือพลาสติก 50 ลำที่ร้านของเขาขายหมดในครึ่งชั่วโมง รวมทั้งพลาสติกที่ใส่ของหนีน้ำก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
            ในวิกฤติมีโอกาสเสมอขึ้นอยู่กับมุมมอง นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมักเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ยาวไกล มองเห็น(โอกาส)ในสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น สินค้าและบริการของเขาผลิตขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการและช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้คนได้ในอนาคต คนเหล่านี้มักคิดไปไกลกว่าคนทั่วไปหลายขั้น
            ช่วงนี้ที่เฟสบุ๊คของคุณตัน ภาสกรนที www.facebook.com/tanmaitan มีการสอนวิธีทำเสื้อชูชีพลอยน้ำได้ จากวัสดุเหลือใช้จำพวกขวดพลาสติกน้ำดื่ม ใช้งานได้จริง ทำได้ทันที เข้าท่าดีทีเดียว ลองเข้าไปดูทางยูทูปได้ที่ http://youtu.be/SzPhq7I_tFk นอกจากนี้คุณตันยังเป็นผู้บริจาคช่วยเหลือน้ำท่วมรายใหญ่
            คุณตัน เป็นนักธุรกิจที่มักปรากฏตัวเป็นข่าวอยู่เสมอ เช่น การทอล์คโชว์ร่วมกับอุดม แต้พานิช หรือการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองที่กรุงเทพ แง่หนึ่งคุณตันได้ประชาสัมพันธ์ตนเองโดยอาจจะใช้เงินน้อยกว่าลงโฆษณาในสื่อบางแห่งด้วยซ้ำ และได้ภาพพจน์ที่ดีกว่าด้วย
            หลายคนอาจจะตำหนิคุณตันที่ขายกิจการโออิชิ แล้วยังมาทำชาเขียวบรรจุขวดอิชิตันแข่งกับยี่ห้อเดิมของตนเองอีก แต่เมื่อมองลึกลงไปพบว่าคนที่มาซื้อกิจการโออิชิ คือ เสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของเบียร์ช้าง มหาเศรษฐีติดอันดับโลก คุณเจริญเคยบอกว่าหลังซื้อกิจการของคุณตัน หุ้นของโออิชิที่เพิ่มขึ้นมา มูลค่าของมันเหมือนกับว่าเขาได้โออิชิมาฟรีๆ
            เป็นไงล่ะ บอกแล้วว่าเศรษฐีเขาคิดไม่เหมือนคนธรรมดา คอลัมน์ของผมในวันนี้อาจจะไม่ค่อยได้เกี่ยวข้องกับเรื่องออนไลน์เท่าไหร่ แต่มาชวนคุณคิดต่างและคิดบวกในช่วงสถานการณ์วิกฤติ หุ้นตก น้ำท่วม เศรษฐกิจทั่วโลกย่ำแย่ เราจะทำอะไรได้บ้าง (ไม่อยากบอกเลยว่าช่วงนี้ผมก็ได้กำไรจากการซื้อขาย Single Stock Futures)
             คนที่มองในแง่ลบอาจจะบอกว่า หากิน กับ ความเดือด ร้อนของคนอื่นละสิ ก็ว่ากันไป ถ้าจะมองให้เป็นลบมันก็ทำได้ทั้งนั้น เช่น คุณครูก็หากินกับ ความไม่รู้ ของนักเรียน หมอก็หากินกับความเจ็บป่วยของคนไข้ ร้านมินิมาร์ทอย่างเซเว่น อีเลฟเว่นเป็นพ่อค้าคนกลางที่กินหัวคิวจากผู้ผลิตสินค้ารายต่างๆ มองอย่างนี้ถึงไม่ผิดแต่มันทำให้สิ่งต่างๆดีขึ้นไหม
            ถ้าสินค้าหรือบริการของเราตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ช่วยแก้ปัญหาให้เขาได้ ราคาสมเหตุสมผล ไม่เอาเปรียบใคร ไม่มีใครตำหนิเราได้หรอกครับ ตรงกันข้ามเขาจะนิยมชมชื่นเราด้วยซ้ำ ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมทุกคน ให้ผ่านพ้นช่วงเวลาเลวร้ายนี้ไปได้ คิดเสียว่าตอนเกิดมาเราก็ตัวเปล่า ใช้ชีวิตมาถึงตอนนี้ได้ก็นับว่ากำไรกว่าใครหลายคนแล้ว