17 ตุลาคม 2554

เว็บเฉพาะกิจ


ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาข่าวน้ำท่วมยึดครองพื้นที่ของสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออื่นๆ จนถึงขณะนี้ความเดือดร้อนก็คงยังไม่หมดสิ้นไป หลายชีวิตยังต้องการการเยียวยาช่วยเหลือ  ใครพอมีกำลังก็บริจาคทรัพย์สิน สิ่งของ บ้างก็ช่วยบริจาคแรงงาน คนละไม้คนละมือ คนเราจะเห็นใจกันก็ยามยากนี่แหละ
สิ่งที่มาพร้อมๆกับภัยธรรมชาติครั้งนี้คือน้ำใจของคนไทยที่แสดงออกมาให้เห็นอย่างท่วมท้น ในโลกออนไลน์มีการทวีตเตอร์รายงานน้ำท่วมและแจ้งข่าวการให้ความช่วยเหลืออย่างคึกคัก เช่น สถานีข่าวระวังภัย @Rawangpai , ศูนย์ข้อมูลช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม@thaiflood ,กรมชลประทาน @PR_RID เป็นต้น
บนเฟสบุ๊คเกิดเพจรายงานสถานการณ์น้ำท่วมมากมาย ทั้งระดับประเทศ และระดับจังหวัด เช่น www.facebook.com/flood54 น้ำท่วม 54 เกาะติดสถานการณ์และการบริจาค , www.facebook.com/room2680 น้ำท่วมให้รีบบอก , www.facebook.com/k.sharing พระจอมเกล้าลาดกระบัง ปันน้ำใจช่วยภัยน้ำท่วม
            เว็บไซต์เฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นมาเพื่อการนี้ก็ทำหน้าที่ได้อย่างแข็งขัน เช่น www.truelife.com/helptogether/flood ของค่ายทรู มีรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในแง่มุมต่างๆอย่างใกล้ชิด เชื่อมต่อไปยังเว็บช่วยเหลือน้ำท่วมที่เกี่ยวข้อง สามารถรายงานข่าวน้ำท่วมด้วย MMS และ SMS สำหรับเบอร์โทรศัพท์มือถือค่ายทรู ไม่เสียค่าใช้จ่าย
            สำนักการระบายน้ำ http://dds.bangkok.go.th/Floodmon มีระบบตรวจวัดน้ำท่วมบนถนนสายต่างๆในกรุงเทพ ทั้งแผนที่ รูปถ่าย และกราฟ นับว่าทันสมัย ละเอียดลออดีทีเดียว คงจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่อยู่ในกรุงเทพเป็นอย่างยิ่ง
            ชีวิตไม่สิ้นก็ต้องดิ้นกันไป น้ำท่วมครั้งนี้ทำให้แหล่งทำมาหากินของหลายๆท่านได้รับความเสียหาย บ้างก็ขาดทุนจนหมดเนื้อหมดตัว จะอย่างไรก็ตามขอให้ท่านอย่าหมดกำลังใจในการสู้ชีวิต จงเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส โอกาสในการเริ่มต้นทำในสิ่งใหม่ๆ ใครจะไปรู้ว่านี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่ของท่านก็ได้
เดือนตุลาคมปี 2554 นอกจากจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ในไทยแล้ว ยังเป็นเดือนที่สตีฟ จ็อบส์เจ้าของแอปเปิลคอมพิวเตอร์เสียชีวิตด้วย ผลงาน iPhone ,iPad ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างท่วมท้นในขณะนี้ฝีมือเขาล่ะ ตอนที่ iPad ออกมาใหม่ๆ ผมยังคิดว่าใครจะไปซื้อ คอมพิวเตอร์อะไร คีย์บอร์ดก็ไม่มี เมาส์ก็ไม่มี เอาเงินเท่าๆกันนี้ไปซื้อโน้ตบุ๊คดีกว่า
กลายเป็นว่า iPad จุดกระแสความนิยมเรื่องแทปเล็ตให้ใช้กันอย่างแพร่หลาย จนกระทั่งบริษัทคอมพิวเตอร์อีกหลายแห่งแห่ผลิตแทปเล็ตตามกันเป็นแถว สตีฟ จ็อบส์เคยกล่าวทำนองว่าเขาไม่ใช่ผู้ผลิตสินค้าสนองความต้องการของตลาด แต่เป็นผู้สร้างความต้องการนั้นขึ้นมาเอง ฉะนั้นไม่น่าแปลกใจเลยในความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของเขา
สตีฟ จ็อบส์มีวิกฤติใหญ่ๆในชีวิต 3 ครั้ง ครั้งแรกคือเรื่องต้องออกจากมหาวิทยาลัย เพราะมีปัญหาเรื่องค่าเล่าเรียน เรื่องนี้ทำให้เขาได้เลือกเรียนวิชาที่เขาสนใจจริงๆ(แบบไม่เสียเงิน) เช่นการประดิษฐ์ตัวอักษร ต่อมามันเป็นความรู้สำคัญที่ใส่ลงไปในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เขาผลิตขึ้น
วิกฤติครั้งที่สองคือเขาถูกออกจากบริษัทที่เขาก่อตั้งขึ้นมาเอง ตอนนั้นเขารู้สึกแย่มาก แต่ต่อมาเขาก็ไปตั้งบริษัทพิกซาร์ ผู้สร้างการ์ตูนแอนนิเมชั่น ทอย สตอรี่ ก่อนที่บริษัทวอลต์ดิสนี่ย์จะซื้อกิจการไป ช่วงเวลานี้เองที่เขาได้พบรักและแต่งงานกับภรรยาของเขา
วิกฤติครั้งสุดท้ายคือเขาเป็นมะเร็งตับอ่อน ทำให้เขาใช้ชีวิตทุกวันอย่างคุ้มค่าเหมือนว่าเป็นวันสุดท้ายของชีวิต แม้จะรักษาหายมาแล้วครั้งหนึ่งแต่ก็กลับไปเป็นซ้ำอีกครั้ง จนกระทั่งเสียชีวิตไปในที่สุด
น้ำท่วมครั้งนี้หลายโรงงานจมน้ำเสียหาย หนึ่งในนั้นคือโรงงานมูลค่า 3,000 ล้านของคุณตัน ภาสกรนที เขาถึงกับร่ำไห้ต่อสาธารณะ เป็นความเสียหายที่หนักหนาสาหัส แต่ผมเชื่อว่าคุณตันจะฟื้นตัวกลับมาได้ใหม่ในไม่ช้า
ทุกสิ่งคือมายา โลกนี้คือละคร ชีวิตคนบางครั้งเหมือนนิยาย ก่อนจบคอลัมน์นี้ของเล่าชีวิตของคนๆหนึ่งที่เริ่มต้นจากศูนย์ เพื่อเป็นกำลังใจให้กับทุกท่าน ชายคนนี้เรียนจบเพียง ป.4 เกิดในครอบครัวชาวนาที่จังหวัดร้อยเอ็ด เข้ากรุงเทพมาทำงานโรงงานตั้งแต่อายุ 12 หลังเกณฑ์ทหาร แต่งงานมีครอบครัว ยึดอาชีพทำนา ก่อนจะย้ายเข้ากรุงเทพอีกครั้งเพื่อรับจ้างขายไอศกรีม
ต่อมาน้องชายที่ส่งลูกชิ้นให้ร้านอาหารแนะนำให้ขายก๋วยเตี๋ยว จึงลองทำดู ขายได้สักพักพบว่าเส้นบะหมี่ไม่มีคุณภาพ จึงคิดอยากผลิตเอง จึงศึกษาแล้วลองทำจนถูกใจ เริ่มจากทำขายเองในร้านเพื่อลดต้นทุน ประสบความสำเร็จ จนเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นอยากขายบะหมี่บ้างจึงแตกสาขาออกไปเรื่อยๆ ปัจจุบันมี 2,000 กว่าสาขา
นั่นคือเรื่องราวของ พันธ์รบ กำลาเจ้าตำรับ "ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว" เถ้าแก่ร้อยร้าน ผู้ที่ความคิดไม่เคยหยุดนิ่ง นอกจากทำแฟรนไชส์บะหมี่แล้วยังแตกไลน์เป็น หญิงห้าข้าวหน้าเป็ด และกำลังทำ ร้านอาหารทันสมัยชื่อ พ่อชายสี่ หมี่&สเต็ก แถวปทุมธานี ลองเข้าไปอ่านเรื่องราวของเขาได้ที่ www.chay4.co.th
จากเรื่องน้ำท่วมไปถึงเจ้าพ่อไอที จบลงที่แฟรนไชส์บะหมี่ข้างถนน ทั้งหมดนี้เพื่อจะบอกกับคุณว่า คนที่ประสบความสำเร็จไม่ใช่ว่าจะล้มไม่เป็น แต่ทุกครั้งที่ล้มเขาลุกขึ้นมาได้ใหม่เสมอ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปได้ครับ.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น