9 มิถุนายน 2555

การตลาดแบบมีส่วนร่วม



เมื่อเร็วๆนี้ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือเรื่อง Crowdsourcing ล้านคลิกพลิกโลก เขียนโดย เจฟฟ์ ฮาวี สีนวล ฤกษ์สิรินุกุล แปล จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน อ่านไปเพียง 2-3 บทก็พบว่ามีเรื่องน่าสนใจหลายเรื่อง จนอยากนำมาเล่าสู่กันฟัง โดยเฉพาะไอเดียการทำธุรกิจในต่างประเทศ และแน่นอนเกี่ยวข้องกับเว็บไซต์
ประเด็นหลักของหนังสือเล่มนี้คือการเล่าเรื่องโครงสร้างธุรกิจสมัยใหม่ ที่มีการถ่ายเทงานบางอย่างให้มวลชน เช่น การออกแบบ การถ่ายรูป แสดงความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ ให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมในการเสนอผลงาน ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี
เขาเล่าถึงเว็บไซต์แห่งหนึ่ง ชื่อ www.threadless.com ที่ชวนนักออกแบบ(ส่วนใหญ่จะสมัครเล่น) มาดีไซน์เสื้อยืด แล้วให้คนที่เข้าชมเว็บไซต์ลงคะแนนโหวต ใครได้คะแนนมากที่สุด ลายเสื้อยืดของคนนั้นจะได้รับการผลิตออกมาเป็นเสื้อจริงๆ
เสื้อยืดที่ผลิตขึ้นส่วนใหญ่ราคาอยู่ที่ 10-25 เหรียญสหรัฐอเมริกา คนออกแบบได้เงินรางวัลก้อนหนึ่ง พร้อมความภูมิใจที่เสื้อของตนได้รับการผลิตขึ้นมาจริง ส่วนเจ้าของเว็บไซต์ก็ได้ลายเสื้อยืดมาผลิตและจำหน่าย โดยประหยัดเงินค่าออกแบบ ซ้ำใช้งบการตลาดที่ต่ำมาก
เพราะคนเข้าประกวดก็จะบอกต่อเพื่อนๆ ญาติๆ ให้เข้ามาลงคะแนนให้ตน แทบไม่ต้องทำประสัมพันธ์ เว็บแห่งนี้มีแฟนเพจให้ติดตาม มีปุ่มให้แชร์ผลงานไปยังช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ อาทิ เฟสบุ๊ค กูเกิ้ลพลัส ทวิตเตอร์ ยุคสมัยนี้ใครเจออะไรดีๆ อดที่จะอวดให้เพื่อนรู้ได้ที่ไหน
หากเราเข้าไปเดินห้างฯ ทั้งๆที่ไม่ได้ตั้งใจเข้าไปซื้อสิ่งใด แต่เมื่อเข้าไปแล้วก็มักได้ของติดไม้ติดมือมาเสมอ คนที่เข้าเว็บแห่งนี้คงอดไม่ได้ที่จะช็อปเสื้อตัวใดตัวหนึ่ง หรือสินค้าตัวอื่นก่อนออกจากเว็บไปเช่นกัน
เป็นสถานการณ์ที่วินๆด้วยกันทุกฝ่าย นอกจากลงตัวทั้งเจ้าของธุรกิจและคนออกแบบแล้ว ผู้บริโภคก็จะได้เสื้อยืดลายเก๋ๆไม่ค่อยซ้ำใครกลับไปใส่อีกด้วย นอกจากเสื้อยืดสำหรับผู้ชายและผู้หญิงแล้วยังมีเสื้อของเด็ก กระเป๋า ผ้าพันคอ ร่ม หรือแม้แต่เคสไอโฟนลวดลายเก๋ๆให้ท่านจับจองเป็นเจ้าของ 
ใครที่มีฝีมือในการออกแบบและรู้สึกคันไม้คันมืออยากลองเสนอผลงานเข้าไปได้ครับ
ไม่แน่คุณอาจได้เงินรางวัลก้อนโต พร้อมชื่อเสียงที่ไม่อาจประเมินได้
สถานการณ์อย่างนี้ทำให้ผมนึกถึงแฟนเพจแห่งหนึ่งที่กำลังไต่อันดับขึ้นสู่ความนิยมอย่างรวดเร็ว www.facebook.com/9gaginthai เป็นแฟนเพจการ์ตูน และภาพตลกๆ ที่ส่วนใหญ่แปลมุขมาจากเว็บต่างประเทศ ชื่อ www.9gag.com และส่วนหนึ่งให้สมาชิกสร้างมุขแล้วส่งเข้ามา ซึ่งมีคนร่วมสนุกเป็นจำนวนมาก
ปัจจุบันมีคนกด Like เพจนี้ 6 แสนกว่าคนแล้ว อาจจะน้อยกว่าเพจของสมาคมมุขเสี่ยวๆ www.facebook.com/samakhom ที่มีแฟนๆเกือบล้าน แต่เมื่อดูจากกระแสตอบรับพบว่า การ์ตูนส่วนใหญ่ของ 9gaginthi มีคนกด Like นับหมื่น มีการแสดงความเห็นนับพัน ขณะที่สมาคมมุขเสี่ยวๆ ผลตอบรับไม่มากเท่านี้
การ์ตูน 9gag สามารถสร้างเองได้ที่ www.ragemaker.com เป็นเว็บที่มีหน้าตาตัวการ์ตูนสำเร็จรูป เพียงแต่นำมาจัดเรียงตามมุขที่คิดขึ้น จากนั้นก็อัพโหลดขึ้นเว็บให้คนอื่นได้แสดงความคิดเห็น ทำเอาสนุก ทำเอามันส์ ทำเอาความสะใจ
เพจแห่งนี้ประกาศว่าไม่ได้หวังผลเชิงพาณิชย์ แต่การที่แฟนเพจเป็นชุมชนที่ใหญ่ขนาดนี้ผมว่ามันมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เหมือนเพจสมาคมมุขเสี่ยวๆที่วันหนึ่งก็ทำเสื้อยืดออกมาขาย แล้วก็มีหนังสือรวมมุขเสี่ยวขายในเซเว่นอีเลฟเว่นต์
วันก่อนขณะเล่น Facebook ผมเห็นโฆษณาเล็กๆชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับเว็บไซต์สร้างฟรี จึงคลิกเข้าไปดู ปรากฎว่าเป็นเว็บ e-commerce ชื่อ www.bentoweb.com เข้าท่าดีเหมือนกัน คำว่าเว็บ e-commerce คือเว็บที่เราสามารถโพสต์สินค้าเป็นรายการ แยกหมวดหมู่ มีระบบตะกร้าสรุปยอดขาย ไม่ใช่เว็บที่แสดงแต่ข้อมูลและรูปภาพเฉยๆ
Bentoweb.com แตกต่างจากเว็บค้าขายแห่งอื่นตรงที่มีการเชื่อมโยงเข้ากับแฟนเพจในเฟสบุ๊คของเราได้ด้วย ข้อดีคือทันทีที่เปิดร้านท่านก็จะมีว่าที่ลูกค้าเท่ากับจำนวนเพื่อนสมาชิกในแฟนเพจของท่านทันที และสามารถขยายฐานลูกค้าได้ด้วยการกด Like
ทันทีที่กด Like ภาพของสินค้าคุณจะไปปรากฏที่เฟสบุ๊คของคนๆนั้น และเพื่อนๆของเขาก็จะได้เห็นภาพสินค้าด้วย ที่นี่มีการเก็บข้อมูลสถิติของลูกค้า ว่าเป็นเพศใด วัยเท่าไหร่ ชอบเรื่องอะไร เพื่อเป็นตัวกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจในอนาคต
แพจเกจใช้งานฟรี ท่านสามารถใส่สินค้าได้ 5 รายการ แนะนำว่าให้ท่านลองใช้ดูก่อน หากได้ผล หรือต้องการเพิ่มสินค้ามากกว่านี้ท่านสามารถอัพเกรดเป็นแบบเสียเงิน เริ่มต้นที่ 350 บาทต่อเดือน(ชำระ 12 เดือน)
จะเห็นว่าเว็บซึ่งประสบความสำเร็จที่ผมเล่ามาข้างต้น มีปริมาณผู้เข้าชมล้นหลาม สิ่งสำคัญคือการเปิดโอกาสให้คนทั่วไปมีส่วนร่วม ไม่ใช่แค่เพียงแสดงความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ แต่ถึงขั้นมีส่วนในการสร้างสรรค์เนื้อหา หรือออกแบบผลิตภัณฑ์
เว็บลักษณะนี้ตอบสนองความต้องการลึกๆของผู้คนตรงจุดที่ต้องการมีตัวตน เป็นที่ยอมรับของสังคม มีที่อยู่ที่ยืนของตนเอง โลกบนอินเตอร์เน็ตกว้างใหญ่เสมอ ไร้พรหมแดน และเป็นโอกาสสำหรับทุกคน
บางครั้งผมว่ามันมีเสรีภาพและเป็นประชาธิปไตยยิ่งกว่าในโลกจริงๆซะอีก ไม่แน่ว่าคุณอาจจะพบตัวตนที่แท้จริงของคุณบนโลกไซเบอร์นี้ก็เป็นได้.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น