เมื่อกลางปีที่แล้วผมตัดสินใจมาใช้ชีวิตอยู่ต่างจังหวัดด้วยเหตุผลว่ามัน “น่าอยู่” กว่ากรุงเทพในหลายๆเรื่อง ที่สำคัญคือเรื่องคุณภาพชีวิต ทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพกาย กรุงเทพมีแต่ตึกและรถ แย่งกันอยู่ แย่งกันกิน แย่งกันใช้ อากาศที่หายใจมีแต่มลพิษ แทบทุกบ้านต้องมีเครื่องปรับอากาศ ชีวิตที่เร่งรีบจนแทบไม่มีเวลาทำอาหาร ต้องกินข้าวนอกบ้านทุกมื้อ
ผมเคยเดินทางจากลาดพร้าวไปสีลมระยะทางไม่ถึง 20 ก.ม.ใช้เวลาเดินทางร่วม 2 ชั่วโมง รถขยับทีละนิดๆ น่าอึดอัดมาก บ้านผมที่ต่างจังหวัดอยู่อำเภอหนองกี่ ห่างจากจังหวัดนครราชสีมา และบุรีรัมย์ ประมาณ 80 ก.ม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้น อยู่ต่างจังหวัดเวลาเป็นของเราเต็มๆ
หลายคนที่อยู่กรุงเทพคงมีเหตุผลสำคัญคือเรื่องเศรษฐกิจ อยู่ในเมืองมีงานให้เลือกทำมากมาย ค่าแรงดีกว่าต่างจังหวัด แต่ต้องไม่ลืมว่าอยู่เมืองกรุงค่าใช้จ่ายย่อมสูงตามไปด้วย เบ็ดเสร็จแล้วอาจจะติดลบเลยก็ได้ ทว่าการจะย้ายกลับไปอยู่ต่างจังหวัดก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี วันนี้ผมจึงอยากชวนท่านมาหาคำตอบ
ผู้ประกอบการท้องถิ่น
ถ้าไม่นับเรื่องอาชีพที่ขัดต่อศีลธรรมจำพวกหวยหุ้นที่ออกรางวัลกันทุกวันซึ่งเฟื่องฟูมากที่ต่างจังหวัดแล้ว ผมยังพบว่ามีอาชีพที่คนที่นี่ทำและมีรายได้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยไม่ต้องเป็นลูกจ้างและไม่ต้องง้อของานใครทำ
เรียนจบปริญญาตรีมาหากไปทำงานประจำเงินเดือนอาจจะประมาณ 1 หมื่นบาท หลายคนเลือกกลับต่างจังหวัดมาประกอบอาชีพของตนเอง ช่วงยางพาราราคาดีพบว่ามีบัณฑิตปริญญาตรีรับจ้างกรีดยางอยู่ทั่วไป แบ่งรายได้ 40:60 กับเจ้าของสวนยาง มีรายได้เดือนละหลายหมื่น เป็นอาชีพที่ไม่ต้องมีทุนรอนมากมาย
วันก่อนไปกินข้าวต้มโต้รุ่งที่อำเภอใกล้ๆนี้ น้องผู้หญิงคนหนึ่งเดินไปมาอยู่ในร้านถามได้ความว่าเป็นเจ้าของร้าน จบปริญญาตรี เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เธอมีลูกน้องช่วยงานนับสิบคน ลูกค้าเต็มร้าน ตอนนั้นโต๊ะหนึ่งเรียกเช็คบิลเป็นเงิน 4 พันกว่าบาท(มีเหล้าด้วย) คืนหนึ่งร้านนี้น่าจะขายได้หลายหมื่น รายได้ขนาดนี้คงทำให้เธอหายเหนื่อยได้เช่นกัน
เดินเข้าไปในตลาดประจำอำเภอพบแม่ค้าขายของชำหน้าใส ถามได้ความว่าเรียนจบปริญญาตรีการตลาดจากมหาวิทยาลัยเดียวกัน ตอนจบใหม่ๆมีธนาคารแห่งหนึ่งเสนองานให้ แต่เธอปฏิเสธเพราะต้องการกลับมาดูแลแม่และช่วยกิจการที่บ้าน นับว่าไม่ผิดหวังเพราะตอนนี้เธออายุยังไม่ถึง 30 ปี แต่มีรายได้เท่ากับผู้จัดการธนาคาร โดยไม่ต้องไปแก่งแย่งชิงตำแหน่งกับใคร
ที่ใดมีคนที่นั่นมีกำลังซื้อ ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคของต่างจังหวัดนับว่าโตมากๆ ร้านขายของชำในอำเภอที่ผมอยู่เพิ่งเปิดร้านมาประมาณ 6 เดือน ยอดขายวันละ 50,000 บาท เจ้าของร้านเล่าว่า ร้านมินิมาร์ทในตลาดขายดีกว่านี้อีก ยอดขายวันหนึ่งเป็นแสน ทั้งที่มี 4 ร้านทั้ง 4 มุมของตลาด แข่งกันขายของถูก
ร้านเซเว่นหรือเฟรนส์ไชน์มินิมาร์ทไหนๆถ้าคิดจะมาตีตลาดที่นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
ผู้ประกอบการท้องถิ่นออนไลน์
เมื่อมีผู้ประกอบการที่มีความรู้ มีการศึกษามากขึ้น หลายสิ่งหลายอย่างก็ตามมา อาทิ การประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการ ผมเคยใช้บริการลงโฆษณากับวิทยุท้องถิ่นของที่นี่ พบว่ามีค่าใช้จ่ายถูกจริงๆ เดือนละ 1,000 บาทเท่านั้น ออกอากาศทุกวันช่วงเช้า
คนที่ฟังรายการวิทยุก็ยังมี เพราะสามารถฟังไปด้วยทำงานไปด้วยได้ การดูรายการโทรทัศน์อาจจะได้ข่าวสารสาระที่ไกลตัวออกไปเพราะผู้ผลิตรายการทำให้คนดูทั้งประเทศ แต่รายการวิทยุพูดเรื่องใกล้ตัว จับต้องได้มากกว่า
ด้านอินเตอร์เน็ตเดี๋ยวนี้มีใช้กันแทบทุกบ้านเหมือนโทรศัพท์ เด็กมัธยมแทบทุกคนมีเฟสบุ๊คเป็นของตนเอง ผมเคยลงโฆษณาที่เฟสบุ๊คโดยจำกัดกลุ่มเป้าหมายเป็นคนในจังหวัดนครราชสีมาและบุรีรัมย์ พบว่ามีการแสดงผลหลักหมื่นและมีคนคลิกเข้ามาอ่านวันละหลายสิบคนเลยทีเดียว
ไอเดียหนึ่งที่ผมอยากทำและอาจจะเริ่มทำในไม่ช้านี้ ทุกท่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ คือการทำเว็บไซต์ท้องถิ่น อาจจะเป็นเว็บอำเภอหรือตำบลที่ท่านอาศัยอยู่ ปัจจุบันหน่วยราชการก็มีการทำอยู่บ้างแล้ว แต่ผมพบว่ายังเป็นเว็บที่ไม่น่าสนใจเท่าไหร่
ข้อมูลในเว็บน่าจะเป็นการรวบรวมสถานประกอบการต่างๆ ประชาสัมพันธ์กิจกรรมที่จะเกิดขึ้น แหล่งขายที่ดิน บ้านเช่า ขายรถ โอท็อป และสินค้าต่างๆ รวมถึงเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของคนในชุมชน ช่วงต้นประชาสัมพันธ์ให้ฟรี เมื่อเว็บเป็นที่นิยมแล้วจึงค่อยเก็บค่าโฆษณา
เครื่องมือที่ใช้สร้างเว็บที่ว่านี้ท่านอาจจะใช้บริการของฟรีต่างๆที่เคยแนะนำไปแล้วได้แก่ เว็บไซต์ฟรี http://sites.google.com , แผนที่ฟรีที่ http://maps.google.co.th , ปฏิทินฟรีที่ http://www.google.com/calendar
ท่านอาจจะเปิดบัญชีเฟสบุ๊คที่เป็นชื่อท้องถิ่นของท่านด้วย เพื่อดึงคนเข้าเว็บไซต์ และใช้อัพเดทเหตุการณ์ต่างๆอย่างรวดเร็ว ท่านอาจจะบันทึกคลิปวีดีโอเล่าเรื่องของท้องถิ่นท่าน ทำเป็นรายการทีวีออนไลน์ติดที่เว็บ โดยอับโหลดคลิปของท่านได้ที่ www.youtube.com
การเติบโตของเว็บท้องถิ่น
เว็บไซต์ท้องถิ่นของท่าน นอกจากขายพื้นที่โฆษณาแล้ว ท่านยังสามารถแตกไลน์ธุรกิจออกไปได้อีกหลายอย่าง เสมือนท่านมีสื่อชนิดหนึ่งอยู่ในมือ ท่านอาจรับจ้างทำเว็บให้สถานประกอบการต่างๆ หากลงข้อมูลในเว็บฟรีก็มีข้อมูลจำกัด หากต้องการรายละเอียดมากขึ้นก็มีค่าใช้จ่ายตามที่ตกลงกัน
ปัจจุบันแนวโน้มของธุรกิจเน้นกลุ่มเป้าหมายที่ “แคบ” แต่ “ลึก” ขึ้น สินค้าและบริการที่ออกแบบมาอย่างเฉพาะเจาะจงลงตัวกับลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เว็บท้องถิ่นจะตอบสนองกับธุรกิจที่มีลูกค้าอยู่ในท้องถิ่นนั้น เมื่อเว็บลักษณะนี้มีมากยิ่งขึ้นและเชื่อมโยงกัน เราก็จะได้ข้อมูลธุรกิจท้องถิ่นที่เล่าเรื่องโดยคนท้องที่
ใครจะรู้จัก “บ้าน” ของเขา เท่าเจ้าของบ้านเอง .
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น