เหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมาเราคงเห็นพลังของเฟสบุ๊ค facebook.com เครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่นการระดมพลคนเสื้อหลากสีไปชุมนุมยังจุดต่างๆ นับหมื่นนับแสนคน ช่วงนั้นบอร์ดการเมืองใน pantip.com ร้อนแรงจนกระทั่งรับไม่ไหว ต้องปิดดำเนินการ แต่เฟสบุ๊คไม่มีปัญหา เกิดกลุ่มก้อนทางการเมืองใหม่ๆ และมีคนสนใจเข้าร่วมจำนวนมาก
Facebook.com ก่อตั้งเมื่อปี 2547 โดย มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Elliot Zuckerberg)เชื้อสายยิว - อเมริกัน ขณะนั้นมีอายุ 20 ปี กำลังเรียนในมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ทำเฟสบุ๊คให้เพื่อนนักศึกษาโพสต์รูปและข้อมูลของตนเองได้มากเท่าที่ต้องการ เฟสบุ๊คได้รับความนิยมทล่มทลาย ขยายไปยังมหาวิทยาลัยอื่น และขยายไปทั่วโลกในที่สุด
เฟสบุ๊คกลายเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ขนาดใหญ่ที่สุด และมีผู้ใช้งานมากที่สุด ส่งผลให้ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก กลายเป็นมหาเศรษฐีที่อายุน้อยที่สร้างตัวเร็วที่สุด( 6 ปี) เท่าที่นิตยสาร Forbes เคยสำรวจมา ความสำเร็จของเฟสบุ๊คหอมหวานกระทั่ง ยักษ์ใหญ่อย่าง yahoo หรือ google รุมกันเสนอซื้อกิจการ ด้วยมูลค่าสูงลิ่ว แต่เจ้าของก็ไม่ขาย
ปลายปี 2550 บิล เกตส์ยอมทุ่ม 280 ล้านดอลลาห์สหรัฐ(เกือบหมื่นล้านบาท!) เพื่อซื้อหุ้นได้ไม่ถึง 2 % ของเฟสบุ๊ค แต่นักวิเคราะห์กล่าวว่าคุ้มมากๆเมื่อเทียบกับการเข้าถึงฐานข้อมูลของลูกค้าต่างประเทศและคนหนุ่มสาวที่ไมโครซอฟยังเข้าไม่ถึง ขณะนั้นเฟสบุ๊คมีผู้ใช้บริการประมาณ 50 ล้านคนทั่วโลก
ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเฟสบุ๊คประมาณ 400 ล้านคนทั่วโลก(ข้อมูลเมื่อเดือนเมษายน 2553) สำหรับในประเทศไทย ข้อมูลเมื่อเดือนมกราคมของปีนี้บอกว่ามีผู้ใช้บริการประมาณ 1.63 ล้านคน หรือคิดเป็น 12.17 % ของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในไทย หรือเป็น 0.52% ของผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตทั่วโลก อัตราการเติบโตในไทยประมาณ 10.96% มีคนสมัครใช้บริการประมาณ 23,000 คนต่อวัน
เศรษฐีออนไลน์หลายฉบับก่อนหน้านี้เคยบอกว่า ถ้าเจ้าของธุรกิจ SMEs ท่านใดยังไม่มีเว็บไซต์เป็นของตนเอง ผมแนะนำให้เริ่มต้นที่เฟสบุ๊ค(ถึงมีเว็บของตนเองก็น่าจะมีเฟสบุ๊คด้วย เพื่อดึงคนเข้าเว็บไซต์) เพราะมันมีข้อดีหลายประการ
อย่างแรกคือสามารถหาเพื่อน(ว่าที่ลูกค้า)ได้มากเท่าที่ต้องการ เป็นร้อยเป็นพันก็ได้ เลือกแบบที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย เป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ที่ไม่มีค่าใช้จ่าย เมื่อมีข่าวสารความเคลื่อนไหวสามารถส่งให้ผู้อื่นรู้ได้อย่างรวดเร็ว ทราบความคิดเห็นหรือผลตอบรับได้ง่ายๆเหมือนทำวิจัยการตลาดไปในตัว และในบรรดาคนที่รับเป็นเพื่อนแล้วเมื่อเขาออนไลน์ก็จะเห็นสถานะสามารถแชตคุยกันได้ทันที
ตัวอย่างของเฟสบุ๊คองค์กรธุรกิจคือ
โออิชิ www.facebook.com/oishigroup
แลนด์แอนเฮ้าส์ www.facebook.com/landandhouses
ไอแอมวาเคชั่น www.facebook.com/iamvacation
เบียร์อาซาฮี www.facebook.com/iamvacation
เฟสบุ๊คองค์กรจะให้ความรู้สึกเป็นมิตร ใกล้ชิดแหมือน “เพื่อน” มากกว่าเว็บไซต์ทั่วไปที่ดูเป็นทางการ เพราะเป็นการสื่อสาร 2 ทางผู้เข้าชมสามารถแสดงความเห็นได้ ข้อควรระวังของการใช้เฟสบุ๊คองค์กร คืออย่าตั้งหน้าตั้งตาขายของเพียงอย่างเดียว ควรทำตัวเหมือนเพื่อนจริงๆ ร่วมกิจกรรมอื่นหรือคุยเรื่องอื่นกันบ้างก็ได้ ไม่มีใครอยากถูกขายของหรอกครับ แต่เมื่อไว้วางใจกันแล้วเมื่อต้องการซื้อของ ใครๆก็ต้องนึกถึงเพื่อนก่อนเป็นอันดับแรก
ในเฟสบุ๊คยังมีส่วนของ Marketplaceหรือกระดานซื้อขาย(อยู่ในแอพลิเคชั่น) ให้สมาชิกประกาศขายของฟรีอีกด้วย โดยแบ่งออกเป็นหลายหมวดหมู่คือ สิ่งของเครื่องใช้ ,บ้าน ,รถ ,งาน, บ้านเช่า,บริการ และอื่นๆ ข้อดีของการใช้บริการกระดานซื้อขายของที่นี่คือ เราจะได้มีโอกาสรู้จักผู้ขายจากรูปภาพ ข้อมูลส่วนตัว รวมไปจนถึงเพื่อนๆของเขา เรื่องที่เขาคุย เรื่องที่สนใจ ว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ
ขั้นตอนการลงทะเบียนใช้งานเฟสบุ๊คผู้ใช้ต้องกรอกข้อมูลส่วนตัว ได้แก่อายุ เพศ ที่อยู่ ความสนใจ สิ่งเหล่านี้จะเป็นฐานข้อมูลสำคัญของการทำโฆษณา ด้านขวามือของเฟสบุ๊คจะปรากฎโฆษณาหลายๆอย่าง ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อมูลบนเนื้อหาเฟสบุ๊คหน้านั้นๆ เช่นถ้าเพื่อนบนเฟสบุ๊คคุยกันเรื่องบ้าน ด้านขวามือก็จะเป็นโฆษณาเกี่ยวกับเรื่องบ้าน ถ้าคุยกันเรื่องอาหารก็จะมีโฆษณาอาหารหรือร้านอาหารปรากฎขึ้น เป็นต้น
โฆษณาด้านขวามือนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถลงโฆษณาได้ด้วยตนเอง เพียงมีบัตรเครดิตให้ตัดเงินในบัญชี ขั้นตอนการเขียนโฆษณาทำง่ายๆในเวลาไม่นาน เลือกอายุ เพศ จังหวัดหรือประเทศ ของกลุ่มเป้าหมายสินค้าและบริการของเราได้ ทางเฟสบุ๊คจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 1-2 วัน ถ้าผ่านมันก็จะแสดงผลอย่างแม่นยำตามที่เราตั้งค่าไว้บนเฟสบุ๊คต่อไป
โฆษณาแบบเสียเงินนี้มีให้เลือกทั้งแบบคลิกแล้วเสียเงิน(โชว์อย่างเดียวไม่เสีย) และแบบนับครั้งการแสดงผล เช่น แสดงผล 1,000 ครั้งเสีย 0.4 เหรียญดอนล่าห์สหรัฐ สามารถตั้งงบประมาณต่อวัน ทำให้สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ คล้ายๆกับลงโฆษณาที่กูเกิ้ลต่างกันที่โฆษณาของที่นี่ไม่น่าจะมีพวกโกงคลิก เพราะไม่ได้แบ่งค่าโฆษณาให้เจ้าของเว็บไซต์แบบที่เอาโฆษณาของกูเกิ้ลไปติด
หลักการง่ายๆคือถ้าโฆษณานั้นคู่แข่งไม่สูง ค่าคลิกไม่กี่บาท(3-7 บาทต่อคลิกก็ลงโฆษณาที่เฟสบุ๊คได้แล้ว) ก็ใช้โฆษณาแบบคลิกแล้วจ่ายดีกว่า ถ้าโฆษณานั้นค่าคลิกแพงก็ให้ใช้วิธีการคิดค่าโฆษณาแบบแสดงผล ลูกค้าจะคลิกกี่ครั้งก็ได้ เรามีค่าใช้จ่ายคงที่จากการแสดงผลโฆษณาทุกๆ1,000 ครั้ง
แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการทำวิจัยออกมาว่าการลงโฆษณาผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์มักไม่ได้ผล แต่ความเคลื่อนไหวในโลกอินเตอร์เน็ตเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเฟสบุ๊คที่สามารถเล่นผ่านมือถือรุ่นใหม่ได้หลายๆรุ่นแล้ว การประชาสัมพันธ์และการทำตลาดผ่านช่องทางนี้จึงน่าสนใจไม่น้อย น่าจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของทุกท่าน
ขอให้ร่ำรวยอย่างรวดเร็วเหมือนมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก แล้วพบกันฉบับหน้าครับ.
...........................................................................................................